Clip Cr.GOLAHURA
ก่อนหน้าวันทะเลโลก (World Ocean Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มิถุนายนปีนี้ ทีมนักวิจัยค้นพบหญ้าทะเลขนาดใหญ่เข้าโดยบังเอิญ ณ อ่าวฉลาม (Shark Bay) บริเวณชายฝั่งทะเลในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย อยู่ห่างจากตอนเหนือของเมืองเพิร์ธประมาณ 800 กิโลเมตร
จากการทดสอบทางพันธุกรรม โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลียพบว่า ทุ่งหญ้าใต้ทะเลขนาดมหึมานี้ จริงๆ แล้วเติบโตมาจากเมล็ดพันธุ์เมล็ดเดียวมาเป็นเวลาอย่างน้อย 4,500 ปี จนตอนนี้เติบโตจนครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200 ตารางกิโลเมตร
ดร.เอลิซาเบธ ซินแคลร์ หนึ่งในนักวิจัยกล่าวว่า "ดูเหมือนว่าจะมีความยืดหยุ่นจริงๆ หญ้าทะเลต้องเผชิญกับอุณหภูมิและความเค็มที่หลากหลาย รวมทั้งสภาพแสงที่สูงมาก ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะทำให้เกิดความเครียดสูงสำหรับพืชส่วนใหญ่"
การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะระบบนิเวศของป่าใต้ทะเลมีความสำคัญพอๆ กับผืนป่าบนบก โดยทุ่งหญ้าทะเลขนาด 2 ตร.ม. สามารถปล่อยออกซิเจนโดยเฉลี่ยต่อวันเทียบเท่าต้นไม้ 1 ต้น นอกจากนี้ป่าใต้ทะเลยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินประมาณ 30% ทั่วโลก และมีความสำคัญต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศใต้ทะเลด้วย
การดูแลและปกป้องท้องทะเลซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกของเรา สหประชาชาติและหลายองค์กรรวมทั้ง WWF มีเป้าหมายและโครงการดูแลป่าใต้ทะเลในบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากกิจกรรมของมนุษย์ การกัดเซาะชายฝั่ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในสหราชอาณาจักร WWF และ Swansea University มีโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาประเทศผ่านโครงการที่ชื่อว่า Sky Ocean Rescue ที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์หนึ่งล้านเมล็ดจากสถานที่ต่างๆ ในอังกฤษและเวลส์ เพื่อปลูกในพื้นที่ใต้ทะเลขนาด 20,000 ตารางเมตร หลังจากสหราชอาณาจักรสูญเสียหญ้าทะเลไปมากถึง 92 เปอร์เซ็นต์ในศตวรรษที่ผ่านมา
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-australia-61655327
WWF-Thailand