xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเครื่อง!! เคทีซี จัดตั้งหน่วยงานด้านความยั่งยืน ยึดหลัก ESG มองอนาคต มุ่งเป้าธุรกิจระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทีมงานด้านความยั่งยืน
เคทีซี จัดตั้งหน่วยงานด้านความยั่งยืน เร่งเครื่องปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนให้อยู่ในดีเอ็นเอของพนักงานทุกคน เชื่อมั่นการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ สามารถขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง


นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี กล่าวถึงนโยบายและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเคทีซีว่า “เรามีธุรกิจ payment และสินเชื่อเพื่อการบริโภครายย่อย ในเมืองไทย เราอยากจะทำธุรกิจทั้งสองอย่างนี้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้คนไทย ซึ่งในความยั่งยืนที่มีทั้ง ESG แต่ในเรื่อง E-Environment จะมีน้อยเนื่องจากลักษณะของธุรกิจ ต่างจากธุรกิจที่ต้องมีโรงงาน มีการผลิตที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก ส่วน S-Social และG- Governance คือด้านเศรษฐกิจและสังคมจะเกี่ยวข้องมากกว่า โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องกฎระเบียบ มารยาท กติกา ส่วนเรื่องสังคมเกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ การทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ประโยชน์จากเงินที่กู้เราไปให้มากที่สุด โดยที่ชีวิตตัวเองไม่ได้เดือดร้อนมากนัก เพราะเราไม่ได้มีแนวคิดให้ผู้คนมีหนี้มากมาย และการใช้เงินเกินตัวก็ไม่ใช่แนวทางของเรา แม้ว่าธุรกิจเราจะอยู่ได้ดอกเบี้ยก็ตาม รวมทั้งเรื่องความเป็นธรรม ทั้งกับคู่ค้า และลูกค้า ทั้งหมดนี้เรามีความชัดเจน และทำได้ค่อนข้างมาก”

“ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะทำได้น้อย แต่เชื่อว่าพอช่วยได้บ้าง เช่น เรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ช่วยลดการใข้กระดาษ โดยเฉพาะการส่ง statement ซึ่งเปลี่ยนเป็นการใช้ email และ mobile app ทำให้ช่วยลดการเกิดคาร์บอนฯ ได้ ส่วนเรื่องที่ต้องการเห็นมากที่สุดคือการปลูกฝังความเข้าใจในการทำเรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability ให้กับพนักงานเพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเราอยากเห็นบริษัทของเราเติบโตต่อไปในอีกหลายๆ สิบปี จึงต้องคิดเรื่องที่เป็นระยะยาว ความคิดแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกันสร้าง เพราะถ้าพนักงานหรือคนของเราเข้าใจเรื่องแบบนี้ เช่น เมื่อคิดโปรดักต์หรืองานโฆษณา ฯลฯ ก็จะมีเรื่องความยั่งยืนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น ทำอย่างไรที่ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาก ทำอย่างไรให้ลูกค้าปลอดภัยลดโอกาสติดเชื้อโรคมากที่สุด ทำแล้วจะกระทบเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือไม่ ฯลฯ”

ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนองค์กรแข็งแกร่งยั่งยืน เคทีซีจึงจัดตั้งหน่วยงานด้านความยั่งยืน ทีมงานใหม่เล็กๆ แต่เป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจสำคัญคือการช่วยสนับสนุนให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนด้วยการช่วยให้ตัวแทนของแต่ละแผนกที่มาเข้าร่วม สามารถเติมความรู้ต่างๆ ทั้งจากการอบรมภายใน การเข้าร่วมหลักสูตรต่างๆ ที่หน่วยงานภายนอกจัดขึ้น เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ และเมื่อแต่ละแผนกจะมีทีมเล็กๆ เกิดขึ้นมา เป็นตัวหลักของแต่ละแผนกในการจัดทำแผนงานแต่ละปีจะช่วยขับเคลื่อนการทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนได้ เมื่อแต่ละหน่วยงานระดมสมองเพื่อจัดทำแผนงานของตนเอง โดยมีกรอบหรือแนวทางที่หน่วยงานด้านความยั่งยืนให้คำแนะนำ ท้ายที่สุดจะทำให้ทุกหน่วยงานทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

นายชุติเดช ย้ำว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องการปลูกฝังให้คนของเราทุกคนเข้าใจเรื่องความยั่งยืน คล้ายๆ กับเรื่องความเสี่ยงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเราไปแล้ว ในเรื่องความยั่งยืนก็จะเป็นอย่างนั้น ซึ่งในทุกๆ การทำงานจะต้องคำนึงถึง เช่น หน่วยงานที่ดูแลอาคาร หลังจากมีการปรับปรุงภายในสำนักงานโดยมีแนวคิดเรื่องรักษ์โลก อย่างการใช้ความสว่างจากธรรมชาติภายนอกเพื่อช่วยลดการใช้ไฟฟ้า ตอนนี้ก็เริ่มมาจัดการเรื่องขยะ ฯลฯ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับลูกค้าก็จะทำต่อไปเช่นกัน เพราะเมื่อเรามองว่าความยั่งยืนคือความมั่นคงของบริษัท เราต้องปลูกฝังให้คนของเรามีเรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมองค์กรของเรา มีเรื่องนี้อยู่ในดีเอ็นเอ ก็จะทำให้เราก้าวต่อไปได้ในระยะยาว”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เคทีซีได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ที่จัดทำมาตรฐานด้านความยั่งยืนทั้งระดับโลกและระดับประเทศ เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), Thailand Sustainability Investment (THSI) และสำหรับMorgan Stanley Capital International (MSCI) ที่ในครั้งแรกให้คะแนนระดับ A แต่เมื่อมีการให้ข้อมูลและทำความเข้าใจมากขึ้น ในปีนี้จึงได้ปรับคะแนนเพิ่มให้เป็นระดับ AA ซึ่งเมื่อเทียบระดับโลกก็อยู่ในระดับเดียวกับอเมริกัน เอ๊กซ์เพรส

นางสาวดวงกมล อินทรพราหมณ์ ผู้อำนวยการ เคทีซี กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสมาทำหน้าที่นำเรื่อง SD ไปช่วยต่อยอดให้กับหน่วยธุรกิจต่างๆ ที่มีความเก่งในงานของตนเองอยู่แล้ว และด้วยความที่เคทีซีเด่นชัดเรื่องการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ดังนั้น เมื่อมีเรื่องใหม่ๆ เราก็จะศึกษาและพยายามทำความเข้าใจ ซึ่งในเรื่องนี้เราก็หาทางนำไปช่วยต่อยอดให้กับสายงานต่างๆ และแท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ ทำอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการจับให้เป็นคอนเซ็ปต์ให้ชัดขึ้น เพราะเรื่องความยั่งยืนเป็นการมองไปยาวๆ ทั้งลึกและกว้างขึ้น แล้วต้องสนใจบริบท และเมื่อหน่วยงานต่างๆ นำเรื่อง SD ไปสื่อสารก็จะทำได้ง่าย เช่น ทีมงานสายโปรดักต์ เมื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเรื่อง Social เพราะสามารถนำความต้องการของลูกค้ามาปรับให้เข้ากับเทรนด์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเสริมจุดแข็งหรืออุดช่องว่างที่เป็นความต้องการของลูกค้าได้”
“เมื่อแนวคิดเรื่อง SD และเรื่องธุรกิจมาผสานกัน ทำให้เห็นว่าการทำเรื่อง SD ไม่ได้เป็นเรื่องยาก และเมื่อได้มีการสื่อสารชัดเจนอย่างเข้าใจว่า ไม่ใช่งานเพิ่ม แต่เป็นการทำให้งานนั้นๆ ชัดเจนและมีคุณค่ามากขึ้น และเมื่อหน่วยงานต่างๆ นำไปสื่อสารต่อก็จะสามารถทำให้บริษัทฯ ยั่งยืนได้จริงๆ เราอยู่ในองค์กรที่ผู้บริหารสนับสนุนอย่างชัดเจน และให้ความสำคัญกับเรื่อง SD ในขณะที่ทีมงาน รวมถึงทุกคนที่เป็นตัวแทนสายงานสามารถสื่อสารกันได้อย่างราบรื่น จะเกิดการ synergy เป็นพลังบวก ก็จะสามารถสร้างผลดีให้กับองค์กรในระยะยาว”

สำหรับตัวอย่างการขับเคลื่อน ESG ของเคทีซีอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ในปีที่แล้ว ภายในองค์กรมีเรื่องการดูแลพนักงานให้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเท่ากับเป็นการดูแลคนที่พนักงานต้องไปติดต่อด้วย การปรับปรุงตกแต่งภายในออฟฟิศให้บรรยากาศที่ดีในการทำงานซึ่งเป็นการสร้างความสุขให้กับพนักงานด้วย การดูแลสวัสดิการด้านความเจ็บป่วย ส่วนการดูแลสังคมภายนอก ในด้านของลูกค้ามีเรื่องการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม เพราะผลิตภัณฑ์การเงินของเคทีซีมีความหลากหลายอยู่แล้ว มีสินเชื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายขึ้น โดยในค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ซึ่งจะทำให้การดำรงชีวิตของลูกค้าดียิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น