ต้นไม้ให้ความร่มรื่นและร่มเย็นเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในป่าใหญ่หรือในเมืองอันวุ่นวาย บริเวณที่มีต้นไม้มักเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนา พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้ใต้ต้นไม้ ต้นไม้จึงมีความเกี่ยวข้องต่อการกำเนิดของพระพุทธศาสนา จนมีคำกล่าวว่าการรักษาต้นไม้ รักษาป่า รักษาธรรมชาติ เป็นการปฏิบัติธรรม
ต้นไม้เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน
ทราบกันดีว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นสาละ ตรัสรู้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ และปรินิพพานในป่าสาละ
ส่วนสาละและต้นโพธิ์ จึงเป็นต้นไม้ชนิดแรก ๆ ที่พุทธศาสนิกชนให้ความสำคัญมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล นิยมปลูกไว้ในวัดและสถานที่สำคัญ ไม่นิยมปลูกในบ้าน ยิ่งเป็นต้นโพธิ์แม้มีกิ่งก้านสาขาแผ่กว้างให้ร่มเงาและเป็นที่อยู่อาศัยของนกและสัตว์นานาชนิด แต่รากที่ชอนไชเป็นบริเวณกว้างนั้น ส่งผลกระทบต่อตัวบ้านและสิ่งปลูกสร้าง กีดขวางการรับแสงและแย่งธาตุอาหารในดินของพืชที่เพาะปลูกไว้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่นิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้าน
ด้วยความผูกพันกับต้นไม้ของชาวพุทธ กรมป่าไม้ได้รวบรวมต้นไม้ในพุทธประวัติไว้ให้ได้ศึกษากัน ผู้สนใจสามารถสืบค้นหาอ่านได้ไม่ยาก นอกจากต้นสาละและต้นโพธิ์แล้ว ยังมีต้นไม้ที่เรารู้จักกันดี อาทิ ต้นประดู่ ต้นสีเสียด ต้นตะเคียนทอง ต้นมะม่วง ต้นส้ม ต้นไผ่ เป็นต้น
“พระพุทธเจ้าอยู่กับต้นไม้เกือบทั้งชีวิต ได้อบรมบ่มเพาะ เข้าใจธรรมะใต้โคนต้นไม้ ต่อมาพระสาวกรุ่นหลังก็ธุดงค์อยู่กับป่า เกิดความรู้ธรรมชาติ รู้ธรรมะควบคู่กันไป ขอให้ชาวพุทธช่วยกันปลูกต้นไม้เป็นพุทธบูชาให้โลกน่าอยู่” พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จังหวัดนนบุรี
เวียนเทียนด้วยต้นไม้ ได้บุญแน่
บางคนคงคิดไตร่ตรองอยู่ว่า เวียนเทียนด้วยต้นไม้จะได้บุญไหม๊หนอ ?
“การเวียนเทียนด้วยดอกไม้ธูปเทียนในยุคนี้ มันเป็นการสร้างขยะและมลภาวะ แต่เราจะเปลี่ยนความคิดของญาติโยมเลยคงยาก จึงได้เสริมต้นไม้เข้าไปแทนดอกไม้ ทำให้วัดมีต้นไม้ไว้ปลูกมากขึ้นเรื่อย ๆ เราคืนธรรมชาติในวัด ต้นไม้เขามีวิญญาณเหมือนกันนะ เราปลูกต้นไม้ก็จะมีเทวดาคุ้มครองรักษาเรา” พระครูปลัดไพรินทร์ สิริวัฑฒโน เจ้าอาวาสวัดสังฆทาน
วัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่กลางเมืองใหญ่ที่ภายนอกมีสิ่งปลูกสร้างและรถยนต์ขวักไขว่ เต็มไปด้วยฝุ่นควันและอากาศร้อนอบอ้าว แต่เมื่อเข้าไปในบริเวณวัดก็จะสัมผัสได้ถึงความเย็นกว่านอกเขตวัด เพราะวัดแห่งนี้ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้มาหลายปีทำมาเรื่อยๆ จึงเห็นพรรณไม้มากมายในบริเวณวัด วัดสังฆทานยังเป็นวัดแรกๆ ที่ริเริ่มการเวียนเทียนด้วยต้นไม้
การเวียนเทียนด้วยต้นไม้ในปีนี้และในปีต่อไปจะเป็นโอกาสให้วัดต่าง ๆ ได้ส่งต่อกล้าไม้เหล่านั้นไปปลูกในที่เหมาะสม ในห้วงเวลาการเริ่มต้นฤดูฝน เพื่อกล้าไม้ที่ปลูกได้เติบใหญ่และยังคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน สรรพชีวิต รวมถึงมวลมนุษย์ ช่วยแก้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการเวียนเทียนด้วยต้นไม้จะได้บุญเหมือนกับการเวียนเทียนด้วยดอกไม้ธูปเทียนตามแบบโบราณกาลหรือไม่
ดังที่พระพยอม กัลยาโณ ได้ย้ำว่าการเวียนเทียนด้วยต้นไม้ถือว่าเป็นการบุญที่เข้ากับยุคสมัย “หากทำบุญที่ยึดติดแบบเก่า ก็จะทำให้เสียโอกาสในการแก้วิกฤต การทำบุญตามเทศกาลไม่ทำบุญแก้วิฤตการณ์ ทำให้วิกฤตมากขึ้น ขอให้ปฏิรูปบุญ แทนที่จะถือเทียนซึ่งจะถูกเผาหมดแท่งไปในเวลาสั้น มาถือต้นไม้เวียนสามรอบ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าและเรื่องดีงาม แล้วเอาไปปลูก เป็นการสร้างบุญกุศลแบบ New Normal”
ชวนปลูกต้นไม้ในวัดในเมือง
วัดเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่จะช่วยกันปลูกต้นไม้คลายความร้อน โดยเฉพาะวัดในเมือง เพื่อช่วยลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban heat island) เนื่องจากมีกิจกรรมที่ทำให้เกิดความร้อน ไม่ว่าเครื่องปรับอากาศ รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ สิ่งปลูกสร้างได้ดูดซับความร้อนและถูกกักไว้เป็นเวลานานในชั้นบรรยากาศ ทำให้อากาศร้อน ฝุ่นควัน และมลพิษถูกปิดล้อม ไม่สามารถไหลเวียนระบายออกได้ตามปกติ จึงติดอยู่กับที่และสะสมความร้อนเพิ่มมากขึ้น วัดจึงต้องจัดโซนปลูกต้นไม้ให้มีสภาพทางธรรมชาติ ลดลานปูนซีเมนต์ที่ดูดซับความร้อน และมีสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสม
เห็นได้ว่าต้นไม้มีคุณค่ามากกว่าเป็นเพียงแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจและภาพลักษณ์อย่างที่เป็นกระแสในปัจจุบัน ปีนี้ใครที่ยังไม่ได้ปลูกต้นไม้ ก็อยากให้ลองปลูกสักต้น ตั้งใจอธิษฐานตามที่พระท่านกล่าวไว้ ความร่มเย็นแห่งจิตใจก็จะบังเกิด
“การปลูกต้นไม้ เป็นการบูชาคุณของพระพุทธเจ้าที่มีอานิสงส์มาก เมื่อเราปลูกกล้าไม้ขอให้น้อมนึกในใจว่าขอให้เจริญเติบโต ให้ความร่มเย็น ให้ความร่มรื่นและเป็นที่พักพิงอาศัยของสรรพสัตว์ ช่วยคืนความสมดุลให้ธรรมชาติ ให้ฝนฟ้าตกถูกต้องตามฤดูกาล ต้นไม้เหล่านั้นเป็นต้นบุญที่จะส่งเสริมให้เกิดบุญ ทั้งความร่มรื่นทางกาย และความร่มเย็นทางจิตใจ” พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ได้กล่าวไว้ในการบรรยายชุดปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ วิสาขบูชา เมื่อ 29 เมษายน 2565 ณ สวนโมกข์กรุงเทพ
บทความโดย เบญจมาส โชติทอง
นักวิจัยอาวุโส และผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย