xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.หนุนวินมอเตอร์ไซค์ไร้ควัน เฟส 2 ตอกย้ำเป้าลดมลพิษฝุ่น ลดคาร์บอนเป็นศูนย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





เมื่อวานนี้ ( 5 พฤษภาคม 2565) นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นางอารีรัตน์ ศรีประทาย กรรมการผู้จัดการบริษัท Stallions และ Mr. Li Yao ประธานบริษัท Dongguan Tailing Electric Vehicle Co., Ltd. (TAILG) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ และการเริ่มโครงการความร่วมมือด้านงานวิจัย เพื่อขยายความร่วมมือเดินหน้าโครงการเฟส 2 นำร่องวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 50 คัน

ความร่วมมือในครั้งนี้ กฟผ. สนับสนุนการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน การคัดเลือกวินมอเตอร์ไซค์ รวมถึงติดตามการเก็บข้อมูลจริง อาทิ ข้อมูลการขับขี่ การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ การใช้พลังงาน ปริมาณมลพิษและค่าใช้จ่ายที่ลดลง เพื่อนำมาวิเคราะห์สำหรับขยายผลวินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าในประเทศ และมุ่งสู่เป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2065

สาเหตุสำคัญในการสนับสนุนสองล้อรักษ์โลก กฟผ.มองว่าจักรยานยนต์รับจ้าง คือหนึ่งในรถโดยสารสาธารณะที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมาก แต่ละวันจึงใช้พลังงานน้ำมันมากและปล่อยมลพิษมากตามมาด้วยซึ่งตามเป้าหมายของภาครัฐต้องการส่งเสริมให้เป็นรถจักรยานยนต์รับจ้างไฟฟ้า

กฟผ. จึงนำร่องโดยเริ่มจากวินที่อยู่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ กฟผ. เพื่อความสะดวกในการติดตามและปรับปรุงประสิทธิภาพ เนื่องจากต่อไปที่นี่สามารถใช้เป็นโครงการต้นแบบให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้


ก่อนหน้านี้ปล่อยเฟสแรก เมื่อตอนปลายปี 2564 โดยนำร่องให้บริการในพื้นที่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี จำนวน 51 คัน พร้อมติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 3 แห่ง พัฒนาแอปพลิเคชัน “ENGY Rider”

สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากเป็นการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนการใช้น้ำมันจากฟอสซิล ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ก็ยังช่วยโลกลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุสำคัญของกิจกรรมมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

โดยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่กฟผ.นำมาใช้ สามารถวิ่งได้ความเร็วสูงสุดมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คิดเป็นระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สามารถถอดแบตเตอรี่มาสับเปลี่ยนที่สถานีชาร์จภายในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จังหวัดนนทบุรี และขับขี่ออกไปให้บริการรับ-ส่งได้เลย หรือจะเสียบปลั๊กชาร์จเข้ากับไฟบ้านได้ตามปกติ ช่วยให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากน้ำมันเป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งมีราคาถูกกว่า 

นอกจากนี้ รถจักรยานยนต์รับจ้างไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการยังมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารซึ่งหากผลการศึกษาวิจัยบ่งชี้ว่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสามารถช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ก็จะทำให้ประชาชนหันมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้างมากขึ้น

กฟผ. ในฐานะองค์การหลักด้านพลังงานไฟฟ้า มุ่งมั่นปักหมุดให้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับระบบขนส่งสาธารณะและยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีการศึกษาและติดตามรายละเอียดอย่างรอบด้าน อาทิ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ระยะเวลาในการชาร์จ เพื่อเดินหน้าสู่การพัฒนานวัตกรรมซึ่งเป็นหัวใจของยานยนต์ไฟฟ้าคือ 1. สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) 2. ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) และ 3. สถานที่ตั้งของสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานจริงของประชาชนในอนาคต

เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้า เป็นคำตอบของระบบคมนาคมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นวาระที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน เร่งพัฒนานวัตกรรม และแบ่งปันองค์ความรู้ ซึ่งไม่เพียงแค่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระดับภูมิภาคอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น