xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 5 แนวโน้มพลังงานหมุนเวียน ปี 2565 / โสภาพรรณ ทรัพย์ทิพยรัตนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตสาหกรรมของพลังงานหมุนเวียนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แค่ในทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐฯ ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากร้อยละ 10 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2563 และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นในปี 2565 เนื่องจากความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และความต้องการพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้น

จากรายงาน 2022 Renewable Energy Industry Outlook ของ Deloitte ที่ได้ทำการสำรวจผู้นำและผู้บริหารกว่า 500 รายในสหรัฐฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี วิศวกรรมและการก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ และพลังงานและสาธารณูปโภค สามารถสรุปเป็นแนวโน้มของพลังงานหมุนเวียนได้ 5 แนวโน้มในปี 2565 ดังนี้

1. เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดที่ทันสมัยกำลังได้รับความสนใจ

เทคโนโลยีด้านพลังงานกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุน เช่น พลังงานลม และพลังงงานแสงอาทิตย์ที่สามารถจัดเก็บใน Electric Grid ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ Green Hydrogen แบตเตอรี่ชั้นสูง และการเก็บพลังงานแบบระยะยาวในรูปแบบต่างๆ อาจได้รับอานิสงค์โดยตรงจากการลงทุนนี้เพื่อนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป รวมถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยด้าน Zero-carbon Electricity การจัดเก็บพลังงานระยะยาวเพื่อป้องการการขาดแคลนในบางฤดูกาล ลดความแออัดกับสายส่งพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มความน่าเชื่อถือในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

2. พลังงานแสงอาทิตย์กับโมเดลธุรกิจใหม่

Solar photovoltaic (PV) systems หรือ Solar Cells ได้เป็นที่นิยมมากขึ้น ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสามารถลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าร้อยละ 85 จึงเป็นไปได้ว่าจะมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์นี้มาใช้ในโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งการติดตั้งแบบใหม่ โดยในปี 2565 นี้เราอาจได้เห็น Solar-plus-storage หรือ Floating Solar PV เพิ่มขึ้น ซึ่งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการกักเก็บพลังงาน จะช่วยเรื่องประสิทธิภาพการดำเนินงานและการควบคุมต้นทุนอีกด้วย

3. โครงสร้างพื้นฐานในการส่งไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ Offshore Wind

การพัฒนาการส่งไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนในปี 2565 นี้ การส่งไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยหลักที่เชื่อมต่อพลังงานหมุนเวียนสู่แหล่งไฟฟ้าเพื่อการบริโภคใช้สอยต่างๆ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องลดข้อจำกัดในการส่งให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงพลังงานลมนอกชายฝั่ง (Offshore Wind) ที่ต้องเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานชายฝั่ง (Coastal Infrastructure) ก็ควรมีการส่งไฟฟ้าและเข้าถึงที่สะดวก ทั้งนี้การเพิ่มกำลังการส่งจากเส้นทางปัจจุบัน หรือการเพิ่มเส้นทางใหม่ อาจช่วยลดปัญหาข้อจำกัดในการส่งได้ นอกจากนี้จากรายงานการสำรวจของ Deloitte พบว่า ร้อยละ 76 ของผู้ตอบแบบสอบถามในอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคกำลังวางแผนหรือมีแผนที่จะดำเนินการด้านพลังงานหมุนเวียนโดยจะคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนจากโครงการส่งไฟฟ้าต่างๆ เป็นสำคัญ

4. การพัฒนากลยุทธ์ทางห่วงโซ่อุปทาน

อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนมีความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ในปี 2564 อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนส่วนประกอบ (Semiconductors และ Modules) วัตถุดิบ (Polysilicon และสินค้าโภคภัณฑ์) และแรงงานตลอดจนค่าขนส่งที่สูงขึ้น ทำให้ราคาพลังงานแสงอาทิตย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนกระแสเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี

5. เศรษฐกิจหมุนเวียนคือหัวใจสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างยั่นยืนของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน

เมื่อความต้องการในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมทั้งการติดตั้งแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น การจัดการขยะที่เกิดจากพลังงานหมุนเวียนหรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการรองรับ การรื้อถอนแผงโซล่าต่างๆ อาจก่อให้เกิดขยะกว่า 1 ล้านตันในปี 2573 รวมทั้งปริมาณแบตเตอรี่ลิเทียมไออนกว่า 80 กิโลตันที่รอนำไปรีไซเคิลต่อในสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีใบพัดกังหันลมกว่า 8 พันชิ้น ที่กำลังจะหมดสภาพในปี 2565 นี้ และอาจรวมกันมากกว่า 2.2 ล้านตันในปี 2593

๐ พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย

แม้ว่าปัจจุบันเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าส่วนมาก จะมาจากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน (รวมลิกไนต์) ในปี 2564 นี้ได้มีสัดส่วนจากพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่ประมาณร้อยละ 10 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีสัดส่วนอยู่

ร้อยละ 2 และในพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าใน 12 เดือนแรกของปี 2564 นี้ยังประกอบไปด้วยพลังงานจากชีวมวลร้อยละ 33 และพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 25 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) ซึ่งพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 10,193 เมกะวัตต์ ในแผนพีดีพี 2565 หรือเพิ่มจากแผนเดิม (พีดีพี 2561 rev. 1) จำนวน 1,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้บริษัทในไทยต่างมีรายได้จากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นด้วย เช่น WHAUP มีรายได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 58.5 ล้านบาท ในปี 2563 เป็น 254.6 ล้านบาท ในปี 2564 เช่นเดียวกับ GUNKUL ที่มีรายได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.64 เมื่อเทียบกับปี 2563

แนวโน้มของพลังงานหมุนเวียนอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้น ผู้นำในทุกภาคส่วนควรจับตามองเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมที่สุด

Sources: Deloitte 2022 renewable energy industry outlook Report

http://www.eppo.go.th/index.php/en/en-energystatistics/indicators

https://www.dede.go.th/ewt_news.php?nid=48247

https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3922:20210707-art01&catid=49:public-articles-egat&Itemid=251

US renewable energy transition | Deloitte Insights

https://www.prachachat.net/economy/news-844114

WHAUP and GUNKUL Annual Report 2021

บทความโดย - โสภาพรรณ ทรัพย์ทิพยรัตนา
พาร์ตเนอร์ด้านการสอบบัญชี
ดีลอยท์ ประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น