เม่นใหญ่ สัตว์ป่าอีกชนิดหนึ่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ กำลังกินอาหารอย่างมีความสุข โดยอาหารของเม่นใหญ่ที่เห็นในคลิป หลายคนอาจไม่รู้ว่า เป็นอาหารส่วนเกิน (food waste) ที่แม็คโคร ส่งมอบให้
ตั้งแต่ปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แม็คโครส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กับหน่วยงานภาคสนามของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่ง และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก 1 แห่ง รวม 27 แห่ง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีๆ ขององค์กรที่เข้ามาช่วยสัตว์ป่าในการดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ
Food waste หรือขยะอาหารของมนุษย์ ตามปกติมักถูกทิ้งขว้าง นำไปใช้ประโยชน์ต่อน้อยมาก มีองค์กรเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เริ่มคัดแยกแล้วเอาไปทำปุ๋ยหมัก และอาหารสัตว์
ตัวอย่างเช่น “เทสโก้ โลตัส” ประกาศเจตนารมณ์ในปี พ.ศ. 2560 ในการเป็นผู้นำลดปริมาณขยะอาหารในประเทศไทย โดยการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังรับประทานได้ให้กับมูลนิธิและผู้ยากไร้ผ่าน ‘โครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งปัจจุบันไฮเปอร์มาร์เก็ตกว่า 40 สาขา บริจาคอาหารที่ยังรับประทานได้ให้ผู้ยากไร้ ส่วนอาหารที่รับประทานไม่ได้แล้วบางส่วนถูกนำมาทำปุ๋ยและอาหารสัตว์
แต่ส่วนใหญ่ ไม่ว่าห้าง ร้าน โรงแรม ทั้งที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ เล็ก อีกจำนวนมากยังทิ้งขยะอาหารโดยไม่นำไปใช้ประโยชน์ต่ออย่างคุ้มค่า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นย้อนกลับมาเป็นของเสียที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกันนี้ ด้านงบประมาณในการดูแลสัตว์ป่าของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ลดลง และนับวันยิ่งได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร่วมด้วย จึงคิดหาทางออกร่วมกันว่า “อาหารส่วนเกินของคน” สามารถเปลี่ยนเป็นอาหารของสัตว์ป่าได้
จนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “แม็คโคร” ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มอบอาหารที่ยังรับประทานได้ หรือเรียกว่า“อาหารส่วนเกิน” (Food Waste) ที่เหลือจากการจำหน่าย เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด เป็นต้น ให้กับหน่วยงานพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่อยู่ใกล้กับสาขาของศูนย์จำหน่ายสินค้าแม็คโครในแต่ละพื้นที่
ได้แก่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่งและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 27 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่ดีที่ช่วยสัตว์ป่าภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้อย่างดีทำให้สวัสดิภาพสัตว์ป่าภายใต้การดูแลในวันนี้ดีขึ้น
ต่อมา (เมื่อ 21-22 มีนาคม 2565) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมลงพื้นที่ไปศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (เขาประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 จังหวัดนครนายก เพื่อติดตาม-ความคืบหน้าการรับ-ส่งมอบอาหารของศูนย์ช่วยเหลือฯ และได้มีโอกาสพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์ช่วยเหลือฯ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขต่อไป
เจ้าหน้าที่สัตวบาลศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (เขาประทับช้าง) ได้เล่าว่า “งบประมาณที่ลดลงนี้ส่งผลต่อการเลี้ยงดูสัตว์เป็นอย่างมาก สัตว์ในศูนย์เองมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น แต่งบประมาณกลับลดลงสวนทางกัน เมื่อก่อนสมมุติว่าเราได้เงินมา 1 ล้านบาท สำหรับค่าใช้ทั้งปีซึ่งก็ไม่ค่อยจะพออยู่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้กลับเหลือเพียงแค่ 3-4 แสนต่อปี มันคงไม่พอ”
หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 กล่าวว่า “ที่นี่มีลิงมากกว่า 600 ตัว สัตว์บาดเจ็บก็ถูกส่งเข้ามาแทบทุกเดือน แต่กว่าเราจะรักษาหายและปล่อยคืนก็ใช้เวลานาน บางตัวไม่สามารถปล่อยคืนก็ต้องอยู่ในศูนย์ต่อไป ทำให้สัตว์ในศูนย์เราเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่าอาหารก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่เงินที่ได้กลับน้อยลง ไม่ใช่แค่ค่าอาหารเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก”
ทั้งนี้แม้จะได้รับการบริจาคอาหารส่วนเกินแล้วก็ตามแต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ป่าในศูนย์ช่วยเหลือฯ เนื่องจากว่าสัตว์ในแต่ละศูนย์นั้นมีจำนวนที่มาก และยังมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ อย่างในศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (เขาประทับช้าง) มีสัตว์ในตระกูลเสือและสัตว์กินเนื้อ ราวกว่า 50 ตัว ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 จังหวัดนครนายก มีลิงมากกว่า 600 ตัว และสัตว์อื่น ๆ รวมกัน 1,000 กว่าตัว ไม่เพียงแต่ค่าอาหารเท่านั้น ยังมีค่าอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเลี้ยงดู ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ ยา เจ้าหน้าที่ การทำความสะอาด และอื่น ๆ อีกมากมาย
ข้อมูลอ้างอิง
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
https://www.seub.or.th/bloging/news/food-waste-for-wildlife/
Clip Cr. TNN Online