GCNT จับมือ TGO จัดสัมมนาออนไลน์ Pathway to Net Zero หนุนภาคธุรกิจเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ย้ำการกำหนดเป้าหมายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือ Science-based Target คือปัจจัยความสำเร็จ
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนเทคนิควิชาการในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและขับเคลื่อนให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจก
ในรูปแบบต่างๆ ได้ร่วมกันจัดสัมมนาออนไลน์ Pathway to Net Zero แนวทางและปัจจัยแห่งความสำเร็จในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจให้เตรียมความพร้อมในการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์กรและเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net-Zero
นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดปัญหาแก่เราทุกคน ตามรายงานของ IPCC ที่ระบุว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างน้อย 10% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน หากเราแก้ปัญหาไม่ดีพอ ในปีนี้จึงเป็นปีสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องเดินหน้าสู่เป้าหมาย
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจทั่วโลก กำลังเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ จึงเป็นความจำเป็นที่องค์กรธุรกิจไทยจะต้องบริหารจัดการกับโอกาสและความเสี่ยง รวมถึงสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องตามบริบทเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และบริบทของโลกด้วย
ด้านนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกฯ กล่าวว่า ในระดับองค์กร การตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ Net Zero GHG เป็นทิศทางที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อปรับตัวและรับมือกับกระแสดังกล่าว ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญ ก็คือจะต้อง กำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือ Science-based Target ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดแนวทางหรือ Pathway และกลยุทธ์ในการดำเนินงานด้าน Climate Actions ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Highlight ของงาน อยู่ในช่วงการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันในการดำเนินกิจกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality-Net Zero ของประเทศไทย ซึ่งมีนายสรณัญช์ ชูฉัตร CEO ETRAN Company Limited นายชลธา ไกรวัตนุสสรณ์ Business Manager Genius Integrated Solution Company Limited และนางสาวศิรภัสสร สกุลวิวรรธน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ หนึ่งในองค์กรสมาชิก GCNT เข้าร่วมในเวที
นางสาวศิรภัสสร สกุลวิวรรธน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ เปิดเผยถึงแนวทางสู่เป้าหมาย Net Zero ของซีพีเอฟว่า ได้ดำเนินงานผ่านห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ที่เรียกว่า “Sustainable Food System หรือระบบอาหารที่ยั่งยืน” โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักร การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อให้เกิดการลดใช้พลังงาน และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นคาร์บอนต่ำ ส่วนที่สอง คือกระบวนการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Removal) โดยเริ่มจากนโยบายการสนับสนุนการยุติการตัดไม้ทำลายป่า เช่น Biodiversity and Zero Deforestation Commitment และSustainable Sourcing Policy และมีการฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตต่อไป
ในงานนี้ GCNT ยังได้แสดงความพร้อมที่จะส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำความยั่งยืนของภาคธุรกิจ ในการจัดการกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการติดอาวุธสำคัญ คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ การเตรียมความพร้อมในการรับมือ ทั้งมุมมองของการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และการแสวงหา โอกาสในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไปสู่การต่อยอดธุรกิจในระดับโลก โดยมีหลักสูตร Climate Ambition Accelerator เป็นหลักสูตร 6 เดือน ที่เตรียมพร้อมสำหรับองค์กรสมาชิก จำนวนกว่า 90 องค์กร ที่ต้องการสร้างความก้าวหน้าในการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ และสร้างเส้นทางเพื่อให้บริษัทเปลี่ยนผ่านไปสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero) เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero GHG ในปี ค.ศ. 2065