xs
xsm
sm
md
lg

“27 เมษา วันสมเสร็จโลก” สัตว์ป่าสงวน 1 ใน 19 ชนิดของไทยที่ยังสุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพถ่ายหายาก ‘สมเสร็จ แม่-ลูก’ เมื่อปี 2563 ในผืนป่าตะวันตกซึ่งจัดเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
วันสมเสร็จโลก ตรงกับวันที่ 27 เมษายนของทุกปี ต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาปริมาณของสมเสร็จในป่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยมีสาเหตุสำคัญจากการรุกรานของมนุษย์ ซึ่งสมเสร็จนั้นยังถูกจัดในกลุ่มของสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) ใน IUCN Red List of Threatened Species (2014)

นอกจากเป็นสายพันธุ์สัตว์ป่าที่มีอัตราการสืบพันธุ์ต่ำ ออกลูกเพียงครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น สาเหคุสำคัญคือถิ่นที่อยู่อาศัยลดน้อยลง มาจากการล่าของมนุษย์ (ไม่นิยมล่าเพื่อการบริโภค แต่อาจล่าเพื่อไปเป็นสัตว์โชว์ในสวนสัตว์) และยังพบว่ามีการตายจากกับดักที่ไว้ใช้ดักสัตว์ชนิดอื่น เป็นต้น

สมเสร็จ หรือ ผสมเสร็จ (Tapir) เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 19 ชนิดของประเทศไทย (ลำดับที่ 13) ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และตามอนุสัญญา CITES Appendix I รวมถึงเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ตาม U.S. Endengered Species Act โดยจัดเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง มีสายเลือดใกล้เคียงม้าและแรด

ทุกวันนี้ ในประเทศไทยยังพบการกระจายตัวของสมเสร็จอยู่ในพื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง ทั้งในผืนป่าตะวันตก เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง (ใช้รูปสมเสร็จเป็นสัญลักษณ์ของเขตรักษาพันธุ์ฯ) ในส่วนทางภาคใต้นั้นเคยมีงานวิจัยระบุการแพร่กระจายประชากร ของสมเสร็จอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและฮาลา-บาลา

สมเสร็จใช้พื้นที่อาศัยหลายรูปแบบ ได้แก่ ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า ป่าปลูก ป่าพื้นฟูตามธรรมชาติและป่าเสื่อมโทรม ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ค่าความถี่ในการพบ ร่องรอยของสมเสร็จของเส้นสํารวจที่อยู่ในพื้นที่ป่าดงดิบในภาคตะวันตกและภาคใต้จะมีค่าสูงสุด (ค่า RA)

วันสมเสร็จโลก จึงมุ่งหมายให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงปัญหาปริมาณที่ลดลงของสมเสร็จจากการรุกรานของมนุษย์ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งเช่นเดียวกับสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด

ในประเทศไทยเป็นสมเสร็จสายพันธุ์มาลายู (Tapirus indicus) ซึ่งมีถิ่นกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา

สมเสร็จเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในอันดับ Perissodactyla หรืออันดับของสัตว์กีบเดี่ยว อยู่ในกลุ่มเดียวกับม้า แรด และกระซู่ ลักษณะรูปร่างของสมเสร็จมีส่วนคล้ายสัตว์หลายชนิดผสมอยู่ในตัวเดียวกัน โดยมีรูปร่างใหญ่ ขาสั้น และตีนมีกีบเหมือนแรด หูตั้งและตาเล็กเหมือนหมู หางสั้นเหมือนหมี จมูกและริมฝีปากบนยื่นออกมาคล้ายงวงช้างยืดและหดได้ สามารถใช้หักกิ่งไม้และพ่นน้ำได้ สีขนบนลําตัวที่ตัดกันระหว่างสีขาวที่ท้องและสีดําที่ส่วนหัวและท้ายลําตัว ทําให้สมเสร็จกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ทำให้ศัตรูโดยธรรมชาติอย่างเสือโคร่งสังเกตเห็นได้ยาก นอกจากนั้นสมเสร็จเป็นสัตว์ที่มีระบบสายตาที่ไม่ดี แต่มีระบบประสาทรับฟังทางหูและดมกลิ่นดีเยี่ยม แถมยังดำน้ำเก่ง ปกติเป็นสัตว์ที่มีอุปนิสัยเรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว



กล้องดักถ่าย จับภาพสมเสร็จ ในป่าแก่งกระจาน เมื่อปี 2014


กำลังโหลดความคิดเห็น