สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ยืนยันกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตระหนักในการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ปัญหาช้างป่า” จำเป็นต้องมีการกำหนดแผนงานและการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม ล่าสุดเผยปี 2566 มีงบสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายและอาสาสมัครชุมชนที่เฝ้าระวังช้างป่า 214 เครือข่ายทั่วประเทศ
นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าการจัดการและการแก้ไขปัญหาช้างป่าในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการกำหนดแผนงานและการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการและการแก้ไขปัญหาช้างป่าในระยะยาว
ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีกิจกรรมดำเนินงานทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น การฟื้นฟูป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารช้าง และโป่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ พร้อมกับพัฒนากลไกในการป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาช้างป่าออกมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์และการสนับสนุนเครือข่ายการแก้ไขปัญหาช้างป่าในภาคประชาชน
โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบปัญหาช้างป่าและต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการจัดทำแนวป้องกันช้างป่า โดยก่อสร้างรั้วกันช้างเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ออกแบบโดยส่วนมาตรฐานและเทคนิคด้านวิศวกรรมของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีแบบโครงสร้างตามหลักวิศวกรรมประกอบเข้ากับระบบไฟฟ้าป้องกันช้างป่า พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมอีกหลายรายการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ปรับแก้ ซ่อมแซมในจุดที่บกพร่องเป็นปัญหา ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์
อย่างไรก็ตามการสร้างรั้วป้องกันช้างป่าไม่ให้ออกนอกพื้นที่ ยังไม่สามารถดำเนินการให้ครอบคลุมและแล้วเสร็จได้ในเร็ววัน กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้กำหนดมาตรการและแนวทางการพัฒนาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การจัดการพื้นที่ชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยเริ่มต้นจากการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้างป่า ทั้งท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชน ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า
รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า ส่งเสริมให้เกิดป่าชุมชนร่วมกับภาครัฐ สร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่าโดยในปี พ.ศ.2566 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีแผนงานและงบประมาณอุดหนุน สนับสนุน และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการทำงานของเครือข่ายและอาสาสมัครชุมชนที่เฝ้าระวังช้างป่า 214 เครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาในภาคประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป