xs
xsm
sm
md
lg

SCN คว้าใบอนุญาตกัญชงในรูปแบบ Indoor ใหญ่ที่สุดในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กัญชง หรือเฮมพ์ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์เดียวกับกัญชา
บมจ. สแกน อินเตอร์ หรือ SCN คว้าใบอนุญาตกัญชง ถือเป็นรูปแบบ Indoor ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ดึงดูดพันธมิตรยักษ์ใหญ่เข้าถือหุ้น 20% บริษัทย่อย “พืชเภสัชกรรม” ดันมูลค่าบริษัทกระฉูดแตะ 240 ลบ.พร้อมคาดทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ ลุ้นเฟสแรกโกยรายได้ 270 ลบ.ต่อปี ตั้งเป้าขายดอกแห้ง 6,000 กิโลกรัมต่อปี


ดร.ฤทธี กิจพิพิธประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตให้ผลิต (ปลูก) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง เลขที่ใบอนุญาต นบ 1/2565 (ป) พื้นที่ลำดับที่ 1 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือ อุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งตามแผนจะมีการปลูกในระบบปิด (Indoor) คือ การเพาะปลูก ในสถานที่ปิดที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก และเป็นรูปแบบ Indoor บนพื้นที่ 3,150 ตารางเมตร ซึ่งมีใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ตามที่คาดแล้วเสร็จและสามารถเริ่มปลูกกัญชงช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตกัญชงแล้วนั้น ส่งผลให้มีนักลงทุนรายใหญ่สนใจในธุรกิจ และเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท พืชเภสัชกรรม จำกัด จำนวน 20% ของหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 48 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนภายหลังการเข้าทำรายการในครั้งนี้ พืชเภสัชกรรม มีมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 240 ล้านบาท เป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโต และฐานทุนที่แข็งแรงที่มั่นคง โดยเชื่อว่าจะเป็นส่วนผลักดันให้บริษัทมีการเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม SCN ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บจ. พืชเภสัชกรรม โดยปัจจุบันถือหุ้นอยู่ที่ 41% จากเงินลงทุน 2.5 ล้านบาท

“เรามีแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกกัญชงมากขึ้น โดยคัดเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกในประเทศ โดยปลูกเฟสแรกในพื้นที่โรงงานไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งใน Crop แรก จะใช้เวลาการเก็บเกี่ยว 4 เดือน ซึ่งเราตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตอีก 3 เท่าตัว โดยจะใช้พื้นที่ในโรงงานของ SCN เดิม และหากเป็นไปตามแผน คาดว่าจะเป็นแรงผลักดันให้รายได้แตะ1,000 ล้านบาท” ดร.ฤทธี กล่าว

ดร.ฤทธี กล่าวอีกว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะรุกธุรกิจกัญชงอย่างเต็มรูปแบบ โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจกัญชงเฟสแรกอยู่ที่ 270 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมาจากการขายดอกแห้ง 6,000 กิโลกรัมต่อปี และจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาในไตรมาส 3 ปี 2565 เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น