xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์ เดินหน้าจัดการขยะอย่างยั่งยืน “จากเตาเผาสู่การลดขยะที่ต้นทาง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตู้รับคืนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทขวดพลาสติก PET และกระป๋องอะลูมิเนียมภายใต้โครงการ Recycle N Save เครดิตภาพ : https://www.straitstimes.com/singapore/environment/refund-based-recycling-of-bottles-and-cans-to-be-legislated-by-2022
ในมุมมองของคนไทยทั่วไปอาจจะมองภาพสิงคโปร์เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) ที่ทันสมัย และในช่วงที่ประเทศไทยมีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 พบว่ามีการสื่อสารที่อาจทำให้เข้าใจผิดว่า คนสิงคโปร์ไม่จำเป็นต้องลดการใช้ถุงพลาสติกเพราะมีเตาเผาขยะ

แต่ความเป็นจริง ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการจุฬาฯ ZERO WASTE กล่าวว่าสิงคโปร์ประสบปัญหาขยะพลาสติกเป็นอย่างมากและพยายามที่จะควบคุมปริมาณขยะพลาสติก โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการจัดทำแผนและกฎหมายที่มุ่งจัดการขยะที่ต้นทางเพื่อลดภาระในการกำจัดที่ปลายทาง

แนวทางการจัดการขยะของสิงคโปร์ที่มีประสิทธิภาพ หลังจากมีแผนลดและจัดการขยะที่ต้นทางอย่างจริงจังด้วยการออกกฎหมายเพื่อมาแก้ปัญหาขยะ (ขี้เถ้า) ล้นเกาะ เพราะกำลังจะเกินศักยภาพของหลุมฝังกลบที่มีอยู่

“รัฐบาลสิงคโปร์ออกกฎหมายมาแก้ปัญหานี้เป็นการเฉพาะ และมุ่งไปที่ 3 ขยะเป้าหมายหลัก คือ 1. ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (มีระบบ EPR แล้ว) 2.ขยะบรรจุภัณฑ์ (ปีนี้ จะมีระบบมัดจำคืนเงิน และปี 2025 จะมีระบบ EPR) 3. ขยะอาหาร ให้เจ้าของอาคารต้องจัดการที่แหล่งกำเนิดหรือส่งต่อให้ผู้รับจัดการ”

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี
ดร.สุจิตรา บอกว่าเดิมทีสิงคโปร์มุ่งเน้นมาตรการเชิงสมัครใจกับภาคธุรกิจและประชาชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง ดังจะเห็นได้จากการดำเนินโครงการข้อตกลงบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Singapore Packaging Agreement : SPA) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตลดการใช้วัสดุและขยะบรรจุภัณฑ์ (NEA, 2022) 

ส่วนโครงการรณรงค์ผู้บริโภค ภาครัฐและภาคเอกชนได้สนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชน “Zero Waste SG” ให้ดำเนินโครงการรณรงค์การพกภาชนะส่วนตัวและลดการใช้ถุงพลาสติกภายใต้โครงการ “Bring Your Own (BYO)” มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 (Zero Waste SG, 2020) แต่ด้วยปริมาณขยะมูลฝอยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องยกระดับการบริหารจัดการขยะให้เข้มข้นยิ่งขึ้นด้วยการกำหนดนโยบาย แผนและกฎหมายที่มุ่งเน้นการลดขยะที่ต้นทางตั้งแต่กระบวนการผลิต และผลักดันให้ภาคเอกชนมาร่วมรับผิดชอบในการจัดระบบเก็บรวบรวมและจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ต่อมาสิงคโปร์ได้จัดทำแผนแม่บทสิงคโปร์ปลอดขยะ (Zero Waste Masterplan) เมื่อปี ค.ศ. 2019 กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่ประเทศปลอดขยะ (Zero Waste Nation) โดยกำหนดเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะที่จะต้องส่งไปกำจัดด้วยการฝังกลบลงให้ได้ร้อยละ 30 นั่นคือ ลดจาก 0.36 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในปีฐาน 2018 ให้เหลือ 0.25 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยจะเพิ่มอัตราการรีไซเคิลในภาพรวมให้ได้ร้อยละ 70 แบ่งเป็นอัตรารีไซเคิลจากภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 81 และภาคชุมชน ร้อยละ 30 เพื่อนำไปสู่การยืดอายุการใช้งานหลุมฝังกลบ Semakau ให้ยาวนานกว่าปี ค.ศ. 2035

แผนแม่บทได้กำหนดประเภทขยะที่เป็นเป้าหมายหลักของแผนนี้ 3 กลุ่ม ได้แก่ ขยะอาหาร ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะพลาสติก โดยในส่วนขยะอาหารและขยะบรรจุภัณฑ์เป็นกลุ่มที่มีปริมาณมากแต่อัตราการนำกลับมาใช้ประโยชน์ต่ำ ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ แม้จะมีปริมาณน้อยกว่าร้อยละ 1 ของขยะทั้งหมดแต่เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องมีการจัดการอย่างถูกต้องและปลอดภัย และสามารถนำทรัพยากรแร่ธาตุ เช่น เงิน ทอง ที่มีในผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่

เพื่อให้มาตรการตามแผนแม่บทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Resource Sustainability Act 2019) ควบคู่ไปกับมาตรการรณรงค์ สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและผู้บริโภคเพื่อนำไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

สำหรับพระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Resource Sustainability Act, 2019) และความคืบหน้าในการดำเนินการ

สิงคโปร์ออกกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Environmental Protection and Management Act 1999 และ Environmental Public Health Act 1987 ต่อมาในปี ค.ศ. 2019 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Resource Sustainability Act (RSA), 2019) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) กำหนดกรอบการบริหารจัดการที่ให้ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการขายหรือจำหน่ายสินค้าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต้นทุนในการเก็บรวบรวมและจัดการผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วหรือเมื่อกลายเป็นของเสีย 2) เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์มีการลดการใช้วัสดุ การใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และ 3) เพื่อให้มีการคัดแยกและจัดการขยะอาหารอย่างเหมาะสม โดยกฎหมายดังกล่าวมุ่งเน้นจัดการขยะ 3 ประเภท ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste: E-waste) ขยะบรรจุภัณฑ์ (Packaging Waste) และขยะอาหาร (Food Waste)

“จากสถานการณ์ปัญหาขยะของสิงคโปร์ และความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายและกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาขยะบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาชน นับว่าเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการถอดบทเรียนสำหรับการจัดการขยะของประเทศไทยต่อไป” ดร.สุจิตรา กล่าว

ข้อมูลอ้างอิง http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/


กำลังโหลดความคิดเห็น