xs
xsm
sm
md
lg

กรมทะเล “อนุบาลเต่ามะเฟืองวัยอ่อน” รอดเกิน 1 ปี ประเทศที่ 5 ของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อไม่นานนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยผลข้อมูลความสำเร็จ ในการอนุบาล “เต่ามะเฟืองวัยอ่อน” ได้เกิน 1 ปี ซึ่งนับว่าไทยเป็นประเทศที่ 5 ของโลก ต่อจากศรีลังกา อเมริกา ฝรั่งเศส และ แคนาดา

เต่ามะเฟือง (Leatherback turtle) เป็นเต่าขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในบรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน ทว่าจัดเป็นสัตว์ในข่ายใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลก (Critically endangered) และเป็นสัตว์สงวนของไทย นั่นทำให้ ทช.มุ่งมั่นในการอนุบาลเต่ามะเฟืองอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2565 ประเทศไทยคือ 1 ใน 5 ของโลกที่ทำสำเร็จแล้ว ณ ศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบน แหลมพันวา จ.ภูเก็ต

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่าสถานการณ์ของเต่ามะเฟืองในโลกไม่ดีเลย เต่าในหลายพื้นที่ถูกปรับสถานะให้กลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด (critically endangered)

ข้อมูลวางไข่ในเขตมหาสมุทรอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ (ศรีลังกา อินเดีย อันดามัน) คาดว่าเหลือ 100-500 รังต่อปี “น้อยมากครับหากคิดว่าจะดำรงประชากรให้เหลืออยู่ในธรรมชาติ โดยไม่เกิดการเลือดชิด การอนุรักษ์พื้นที่ให้ดีสุด นั่นเป็นเรื่องแน่นอน และหาก #อันดามันมรดกโลก ผ่านไปได้ นั่นคือความสำเร็จครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่ยังสำคัญต่อประชากรเต่ามะเฟืองในเขตมหาสมุทรอินเดียทั้งหมด

"ในขณะเดียวกัน เราจำเป็นต้องศึกษาหาทางคู่ขนาน กรมทะเลทำงานร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อเลี้ยงลูกเต่ามะเฟืองให้ได้ ผ่านการปรับปรุงมาหลายขั้นตอน บ่อที่เลี้ยง อาหารที่ใช้ จนถึงปัจจุบัน เราสามารถเพาะแมงกะพรุนมาเลี้ยงลูกเต่าได้แล้วครับ"

โดยผลพลอยได้จากโครงการทดลองอนุบาลเต่ามะเฟืองในครั้งนี้ ได้แก่
1. ความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์แมงกะพรุนหนังลายจุด และแมงกะพรุนลอดช่อง
2.การสร้างระบบเลี้ยงสำหรับลูกเต่ามะเฟือง โดยเฉพาะคอกป้องกันไม่ให้เต่าเกิดบาดแผล
3.งานวิจัยในการอนุบาลเต่ามะเฟือง ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอย่างน้อย 1 เล่ม

อาจารย์ธรณ์ บอกอีกว่าในเอเชียมีชาติเดียว ศรีลังกาเป็นแหล่งวางไข่สำคัญสุดของเต่ามะเฟืองในมหาสมุทรอินเดีย แต่ปัจจุบัน ศรีลังกาประสบปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง โปรแกรมเลี้ยงเต่าคงสะดุด

การเลี้ยงเต่ามะเฟืองจนสำเร็จ จึงสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการอนุรักษ์เต่าให้อยู่รอดต่อไปในทะเลแถบนี้ทั้งหมดโดยเฉพาะพ่อพันธุ์ เพราะระยะหลังเต่าตัวผู้มีสัดส่วนน้อยลง ทำให้ไข่ที่แม่เต่าวางส่วนหนึ่งไม่ได้รับการผสม เนื่องจากน้ำเชื้อไม่พอ แม้ทุกอย่างไม่สำเร็จง่ายๆ แต่ไม่เริ่มก็ไม่ต้องหวังอะไร เมื่อเริ่ม จึงมีหวังครับ

ตั้งแต่เราผลักดันจนเป็นสัตว์สงวน เสนอพื้นที่เต่าวางไข่เป็นมรดกโลก และเลี้ยงเต่าจนรอดเกิน 1 ปี เป็นประเทศที่ห้าของโลก “นี่คือ 3 ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและต่อเนื่องของประเทศไทย ในการอนุรักษ์เต่าใหญ่ที่สุดและใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดไว้ให้จงได้”




แล้วเราทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างไร ?

อาจารย์ธรณ์ แนะนำว่า อย่างแรก อยากให้เด็กๆ และทุกคน ได้ชมคลิปนี้

น้องๆ ได้เห็น เชื่อแน่ว่าเธอเขาจะรักในทะเลไทย จะภูมิใจในการทำงานของพวกเรา ไม่แน่ สักวัน น้องๆ เหล่านั้นจะมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเต่ามะเฟืองเป็นคนแรกของโลกก็เป็นได้

ไม่ได้ฝันเกินเลยไป คนไทยเลี้ยงสัตว์เก่งมาก และเรื่องสัตว์ทะเลหายาก เราเก่งสุดๆ ในย่านนี้ มีแม้กระทั่งบ่อยักษ์เลี้ยงเต่า และพี่ๆ ที่เฝ้าดูแล จนบางคืนไม่ได้หลับไม่ได้นอน

อีกอย่างทำได้ตอนนี้เลย คำตอบแสนง่าย ทำกันได้ทั่งครอบครัว ช่วยกันลดขยะพลาสติกทุกชนิด ปฏิบัติตามกฎอุทยานห้ามนำพลาสติกใช้แล้วทิ้งเข้าไป ลดถุงก๊อปแก๊ปที่ลงทะเลเมื่อไหร่ คล้ายแมงกะพรุนที่เต่ามะเฟืองกิน จนเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เต่าตาย

ช่วยกันเต็มกำลัง ในทุกวิถีทาง ไม่ใช่แค่เพราะน้องเต่า…น่าร้ากกก แต่เพราะเราต้องรับผิดชอบในเผ่าพันธุ์ของเธอที่ใกล้สิ้นสูญแล้วครับ

ย้ำอีกครั้งเราทุกคนอนุรักษ์เต่ามะเฟืองได้โดยการไม่รบกวนสถานที่วางไข่ ไม่รับประทานไข่เต่า ไม่ทิ้งถุงพลาสติกลงทะเลเพราะเต่ามะเฟืองอาจะคิดว่าเป็นแมงกะพรุนและกินเข้าไป เมื่อพบว่าเต่าบาดเจ็บควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พุทธศักราช 2562

ข้อมูลอ้างอิง Thon Thamrongnawasawat


กำลังโหลดความคิดเห็น