xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ปลื้ม “สปินออฟ” รายแรก!! “ไบโอม” ร่วมทุน “บีบีจีไอ” มุ่งต่อยอดงานวิจัยรุกธุรกิจไบโอเทค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"บีบีจีไอ" ร่วมทุน "ไบโอม" บริษัทวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งแรกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังผนึกความแข็งแกร่ง ร่วมต่อยอดสร้างมูลค่างานวิจัยตอบสนองห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง ครอบคลุมหลากหลายวงการ เสริมฐานผู้นำอุตสาหกรรมกลุ่มผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงในภูมิภาคเอเชีย พร้อมวางเป้าหมายใช้ไทยเป็นฐานในการส่งต่องานวิจัยผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ไปยังตลาดโลก

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI เปิดเผยว่า BBGI ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทวิจัยที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องการวิจัยและพัฒนาด้าน Specialty Enzyme (เอนไซม์พิเศษ) และ Synthetic Biology (ชีววิทยาสังเคราะห์) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นบริษัท Spin Off บริษัทแรกของคณะตามนโยบายการผลักดันเพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายวิทยาการ รวมทั้งยังมีเครือข่ายนักวิจัยจากต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรด้านวิชาการที่เข้มแข็ง

การร่วมทุนในครั้งนี้ BBGI เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วนร้อยละ 20 ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของไบโอม มูลค่า 83 ล้านบาท โดย BBGI ได้รับสิทธิเป็นรายแรกในการนำผลงานวิจัยของไบโอมมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะงานวิจัยผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ใช้เทคโนโลยี Synthetic Biology (ชีววิทยาสังเคราะห์) รวมถึงผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ ที่เป็นสิทธิบัตรจากงานวิจัยของไบโอม โดย BBGI จะเข้ามามีบทบาทในด้านการวางกลยุทธ์การผลิต การตลาด และจัดจำหน่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในรูปแบบ B2B และ B2C


ทั้งนี้ ในเบื้องต้น BBGI วางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงที่ส่งเสริมสุขภาพภายใต้ความร่วมมือกับไบโอม จำนวน 2 รายการ ได้แก่ "ผลิตภัณฑ์สารช่วยยืดอายุผักและผลไม้" ซึ่งจะเริ่มทำตลาดในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุผักและผลไม้ให้เก็บไว้ได้นานขึ้น 7-10 วัน เจาะกลุ่มเป้าหมายร้านค้าปลีกรายใหญ่ ร้านอาหารขนาดใหญ่ ผู้ส่งออกผักและผลไม้ และ "ผลิตภัณฑ์เอนไซม์ล้างผักและผลไม้" ที่มีคุณสมบัติในการทำลายโครงสร้างทางเคมีของสารพิษฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักและผลไม้ ทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง และยังไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้


น.ส.ภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไบโอม จำกัด ได้กล่าวเสริมถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ไบโอมเป็นบริษัทแรกๆ ของประเทศไทยที่สร้างมูลค่าจากงานนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของนักวิจัยเป็นหลัก ถือเป็นบริษัทต้นๆ ของประเทศไทยที่มีนักวิจัยช่วยกันก่อตั้งเป็นธุรกิจแบบเต็มรูปแบบ และใช้การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาแปลงเป็นทุนโดยร่วมกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริการธุรกิจ มีความสามารถในการผลิตระดับอุตสาหกรรมและเชี่ยวชาญด้านการตลาด เพื่อให้งานวิจัยได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยมุ่งเป้าที่อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาของ BCG Model โดยไบโอม มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะใช้ความเชี่ยวชาญในการสร้างงานวิจัย พัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม สามารถเป็น R&D Arm ให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมกับ BBGI และจะร่วมมือกันในการเป็นฟันเฟืองที่ร่วมขับเคลื่อนวงล้อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและพัฒนาไปอย่างยั่งยืน

ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมจุฬาฯ รองรับเศรษฐกิจไทยหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ว่า จุฬาฯ มุ่งมั่นนำผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ กลุ่ม Deep Tech Startups จัดตั้งบริษัท“สปินออฟ” สนองนโยบาย University Holding Company ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งพัฒนาวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา ป้องกันโควิด-19 นำหน้าความสำเร็จของสตาร์ทอัพจุฬาฯ ซึ่งขณะนี้จุฬาฯ มีสตาร์ทอัพในคณะต่างๆ ที่พร้อมสปินออฟมากกว่า 50 บริษัท

“เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายประเทศไทยที่ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2 ปีนี้ นอกจากการส่งออก การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ประเทศไทยยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศชั้นนำของโลก ด้วยบทบาทของจุฬาฯ นอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพรับใช้สังคม ยังมีบทบาทในการพัฒนาอาจารย์นักวิจัยเพื่อเป็นแกนนำในการสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือประเทศชาติ และเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะสร้างสังคมของเราให้ยั่งยืนซึ่งจะเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เราจะได้เห็นอาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้”