จากแผนยุทธศาสตร์การเตรียมคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 ที่ได้เริ่มมีโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill / Upskill / New skill) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤตการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (Covid-19) รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกำลังคนในประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิตนำร่องสนับสนุนแนวคิดเปิดหลักสูตรใหม่ “Future Design” ชีวิตออกแบบได้ “เสริมทักษะ สร้างคน เพิ่มโอกาส สร้างงาน” พัฒนาเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมอัจฉริยะ
ผศ.ดร นฤพนธ์ ไชยยศ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า แพลตฟอร์ม Future Skill x New Career Thailand ที่เกิดขึ้น โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะเป็นพื้นที่เปิดที่เชื่อมความต้องการด้านกำลังคนของภาคเอกชน ผู้จ้างงาน และเชื่อมโยงการพัฒนาทักษะความรู้ เพื่อเสริมทักษะใหม่และพัฒนาทักษะที่มีอยู่ (Reskill / Up skill / New Skill) ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ตอบสนองความต้องการและความคล่องตัวในการเรียนของคนทุกกลุ่ม เน้นการเสริม เพิ่ม และพัฒนาทักษะในอนาคต รวมถึงทักษะเพื่อการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม (Smart Innovative Entrepreneur) เป็นต้น
มหาวิทยาลัยรังสิตเล็งเห็นความสำคัญและพร้อมสนับสนุนแพลตฟอร์ม “Future Skill x New Career Thailand” พร้อมเปิดพื้นที่ในการสร้างโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ จึงได้มีการปรับกลยุทธ์และแผนการเรียนการสอนให้สอดคล้องนำร่องโดยการออกแบบหลักสูตรใหม่สำหรับเยาวชน สามารถออกแบบการเรียนในแบบของตนเอง เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นและเหมาะสมกับตัวตนนำไปสู่การเป็นเยาวชนอัจฉริยะ เป็นต้นแบบของการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นพลังแห่งสติปัญญาของประเทศ เป็นเยาวชนที่ผ่านการเรียนรู้ พัฒนาขีดความสามารถ และทักษะเพื่อให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและ New Normal ของโลกธุรกิจ รวมถึงพลิกโฉมการศึกษารูปแบบใหม่ของประเทศไทย”
อาจารย์วิทูล ทิพยเนตร คณบดีสถาบัน Gen.Ed. มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หลักสูตรใหม่ Future Design ที่กำลังขออนุมัติจะเป็นการศึกษารูปแบบใหม่ที่มีความแตกต่างจากมาตรฐานการศึกษาอุดมศึกษาแบบเดิม ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์เชิงสมรรถนะที่เกิดแก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง เน้นผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองความต้องการของประเทศนั่นคือ การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ กระตุ้นให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันในระดับเวทีการค้าโลกได้ โดยมีทักษะแห่งอนาคตที่มีความพร้อมทางด้านทัศนคติ ทักษะความสามารถ และความรู้สำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี มีระบบความคิดแบบใหม่ (Future Skill) และอาชีพใหม่ในอนาคต (Future Career) สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เร็วขึ้น
การเรียนการสอนของหลักสูตรใหม่นี้มีการแบ่งกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามความสนใจของผู้เรียน สอดคล้องกับเทรนด์อาชีพตามความต้องการ ของประเทศ อาทิ นักบริหาร ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้เรียนจะได้รับความรู้ทักษะอาชีพนั้นอย่างเจาะลึก ได้ลงมือปฏิบัติ ทำจริง สำเร็จและล้มเหลวจริงภายใต้องค์ประกอบและปัจจัยการเรียนรู้จริง มีการวัดผลประเมินผลความสำเร็จของผู้เรียนในรูปแบบขั้นบันได (State Level) มีเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จต่างกัน เป็นเกณฑ์การประเมินผลตามโปรเจกต์ (Project) เหมือนกับการทำดุษฎีนิพนธ์ ไม่ได้เป็นการวัดเป็นเกรดเหมือนแบบเดิม
ด้านทีมผู้สอนมีการปรับบทบาทจากอาจารย์ผู้สอนเป็นทีมที่ปรึกษา ได้แก่ ทีมโค้ช (Coach) ซึ่งเป็นตัวหลักในการดูแลผู้เรียนและคอยแนะนำ ให้คำปรึกษาตามทิศทางการเลือกกลุ่มสาระการเรียนรู้ของผู้เรียน ทีมเมนเทอร์ (Mentor) กล่าวคือผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ตรงจากกลุ่มธุรกิจ กลุ่มอาชีพ ที่คอยให้ความรู้และทักษะต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ และทีมสนับสนุน (Partner) ทีมนี้จะรวมเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงศิษย์เก่า ที่จะเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมและต่อยอดโปรเจกต์ให้นำไปสู่ความสำเร็จเชิงประจักษ์และมีประโยชน์ต่อสังคมได้ หลักสูตรใหม่นี้เปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นตัวเอง พร้อมที่จะสร้างความสำเร็จที่ออกแบบเองได้ต้องการเป็น "ผู้ประกอบการยุคใหม่" ที่ก้าวทันและใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระยะเวลาการศึกษาของหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท เปิดรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเทียบเท่าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา”