xs
xsm
sm
md
lg

วัคซีนเพื่อองค์กรยั่งยืนในโลก VUCA / ดร.สุรเดช จองวรรณศิริ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์กรส่วนใหญ่ตระหนักถึงผลกระทบจาก VUCA แต่ยังขาดความพร้อมในการเสริมสร้างสมรรถนะรองรับการดำเนินงานยุคดิจิทัลและสภาพแวดล้อมของความปกติใหม่

VUCA นั้นเป็นการอธิบายถึงลักษณะของสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน ที่มีลักษณะอันประกอบไปด้วย 4 ลักษณะ คือความผันผวน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง หรือ Volatility ความไม่แน่นอน เกิดความไม่มั่นคงของสถานการณ์ หรือ Uncertainty ความซับซ้อน การมีหลากหลายปัจจัยเกี่ยวข้องกัน หรือ Complexity และความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนในสิ่งที่ปรากฎ หรือ Ambiguity ซึ่งสภาวะดังกล่าว เป็นความท้าทายที่สามารถส่งผลให้การวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานผิดพลาด คลาดเคลื่อนหรือไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม อันนำไปสู่ความเสียหายหรือล้มเหลวของธุรกิจได้

TRIS Academy Research (ทริส) ได้ดำเนินการสำรวจระดับการรับรู้และความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรชั้นนำของไทยเกี่ยวกับตระหนักต่อสภาพแวดล้อมการดำเนินงานภายใต้ VUCA World และศักยภาพความพร้อมขององค์กรในด้านต่างๆ ที่ท้าทายต่อ VUCA (VUCA World Readiness Survey 2021) ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผลการศึกษาน่าสนใจที่เราพบว่าองค์กรส่วนใหญ่นั้น ตระหนักถึงผลกระทบจาก VUCA แต่ยังขาดความพร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับบุคลากรภายในองค์กรอย่างทั่วถึง (Digital Literacy) และการเตรียมพร้อมต่อการให้บริการและการดำเนินงานในรูปแบบบนแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Transformation)

ทั้งนี้การสำรวจดังกล่าวได้ออกแบบสอดคล้องตามองค์ประกอบในโมเดล TRIS VUCA VACCINE ที่ทริสได้พัฒนาขึ้นให้เป็นกรอบการพัฒนาองค์กรอย่างรอบด้านสำหรับสร้างความพร้อมต่อสภาพแวดล้อมในโลกธุรกิจยุคใหม่ อันนำไปสู่ความได้เปรียบในการแข่งขันและความเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ในด้านความพร้อมขององค์กรนั้น พบว่ามีเพียง 24% ของผู้บริหารองค์กรที่เชื่อมั่นว่าองค์กรจะยังคงสามารถสร้างผลประกอบการหรือผลการดำเนินงานเติบโตสอดคล้องได้ตามเป้าหมายธุรกิจเช่นเดียวกับที่ผ่านมาในช่วงเวลา 1-2 ปีข้างหน้า โดย 38% เชื่อมั่นต่อความสามารถในการสร้างความผูกพันกับลูกค้าหรือตอบสนองต่อความต้องการ/ความคาดหวังของตลาดได้ 31% เชื่อมั่นต่อความสามารถในการพัฒนา ปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการธุรกิจอันเกิดประโยชน์ด้านค่าใช้จ่ายและทรัพยากร และ 24% เชื่อมั่นต่อความสามารถในการพัฒนาสมรรถนะเพื่อความพร้อมรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่แน่นอนในอนาคต ซึ่งถือเป็นความเชื่อมั่นด้านที่ต่ำที่สุด

โดยผลการศึกษาสถานะขององค์กรตามองค์ประกอบในโมเดล TRIS VUCA VACCINE แล้วพบว่าองค์กรส่วนใหญ่ยังคงต้องเร่งพัฒนาใน 8 ประเด็นสำคัญใน 3 มิติ คือ ในมิติแรก Sustainable Growth การเติบโตอย่างยั่งยืน มีสามประเด็นได้แก่ 1) ความเข้าใจต่อสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจอย่างถ่องแท้ สนับสนุนการทบทวนกลยุทธ์องค์กรให้เหมาะสม 2) การมุ่งใช้การทำงานลักษณะของโครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาองค์กรด้านต่างๆ และ 3) การตอบสนองต่อภาวะวิกฤต ฟื้นฟูความสามารถขององค์กร พร้อมสร้างโอกาสใหม่ๆ หลังวิกฤต

ในมิติที่สอง Innovation Focus การมุ่งเน้นนวัตกรรม มีสองประเด็นได้แก่ 4) การจัดเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ของลูกค้าเพื่อการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการอย่างเป็นระบบ และ 5) กระบวนการพัฒนานวัตกรรมขององค์กรที่เป็นมาตรฐาน เชื่อมโยงการดำเนินงานทั้งภายใน/ภายนอก

และในมิติสุดท้าย Adaptability การพัฒนาสมรรถนะ มีสามประเด็นได้แก่ 6) ความพร้อมต่อการให้บริการและการดำเนินงานเต็มรูปแบบบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 7) การเสริมสร้างทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับบุคลากรอย่างทั่วถึง และ 8) การพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มบุคลากรสำคัญ (Talent) ให้มีบทบาทต่อการสร้างความเติบโตกับองค์กร

 ดร.สุรเดช จองวรรณศิริ
นอกจากนั้นในการศึกษายังพบความแตกต่างของประเด็นท้าทายในองค์กรแต่ละประเภทอีกด้วย โดยหน่วยงานราชการ ประเด็นท้าทายที่สำคัญคือการจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบเพื่อดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ที่การดำเนินงานขององค์กรหยุดชะงัก ลดผลกระทบทั้งระยะสั้นและยาว (Business Continuity)

สำหรับองค์กรรัฐวิสาหกิจ ประเด็นท้าทายคือการจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านลูกค้าและตลาดเพื่อตอบสนองความคาดหวัง โดยเฉพาะในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ของลูกค้าเพื่อการพัฒนาปรับปรุงอย่างเป็นระบบ (Customer Insights)

ขณะที่ประเด็นท้าทายสำหรับองค์กรภาคเอกชนคือ การเสริมสร้างสมรรถนะองค์กรเพื่อรองรับการดำเนินงานยุคดิจิทัลและสภาพแวดล้อมของความปกติใหม่ โดยเฉพาะในการเตรียมความพร้อมต่อการให้บริการและการดำเนินงานเต็มรูปแบบบนแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Transformation)

แน่นอนว่าไม่แม้แต่ประเภทองค์กรที่จะทำให้เกิดความแตกต่างในประเด็นที่ท้าทายเท่านั้น ความตระหนัก ความเข้าใจ และพื้นฐานสมรรถนะของแต่ละองค์กร ย่อมส่งผลต่อความพร้อมขององค์กรในประเด็นที่ไม่เหมือนกัน

ในภาพรวมแล้ว ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารองค์กรควรต้องตระหนักและตื่นตัวต่อสภาพแวดล้อมการดำเนินงานใน VUCA World ที่สร้างผลกระทบต่อเป้าหมายองค์กร รวมทั้งจำเป็นต้องทราบถึงประเด็นปัจจัยที่องค์กรยังคงขาดความพร้อม เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมรับมือ

โดยความแตกต่างขององค์กรเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริหารองค์กรจำต้องค้นหา “วัคซีน” ที่เหมาะสมต่อการสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะกับองค์กร เพื่อสนับสนุนการเดินหน้าพัฒนาองค์กรในทิศทางตามเป้าหมายต่อไป

อ้างอิง สรุปย่อรายงานผลการศึกษา www.tris.co.th/vucaworld_tamresearch2022/


บทความโดย ดร.สุรเดช จองวรรณศิริ
สถาบันวิทยาการจัดการ TRIS Academy of Management


กำลังโหลดความคิดเห็น