xs
xsm
sm
md
lg

อพท. ปั้น “เกาะหมาก” ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มีแผนจัดการ “ขยะการท่องเที่ยว” เล็งประกาศพื้นที่พิเศษ 3 แห่ง ในปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อพท. เดินหน้าหนุน “เกาะหมาก” ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มี "แผนจัดการขยะการท่องเที่ยวของประเทศไทย"  ตั้งเป้า 5 ปี ยกระดับประเทศไทยขึ้นอันดับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก นำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ช่วยสร้างและกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน เผย 3 พื้นที่จ่อเข้าคิวประกาศพื้นที่พิเศษปีนี้ ระบุเนื้อหอมหลายพื้นที่แจ้งความประสงค์ขอรับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ปีนี้ขอดันชุมชนต้นแบบเพิ่ม 27 แห่ง และผลักดัน 15 ชุมชนที่พัฒนาแล้วเข้าสู่การตลาดท่องเที่ยว

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ในปี 2565 จะดำเนินงานตามนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และยุทธศาสตร์ชาติ ผลักดัน“เกาะหมาก” จังหวัดตราด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy ซึ่งมีการคัดแยกและแปรรูปขยะจากการท่องเที่ยว โดยใช้นวัตกรรมต่างๆ ดำเนินการ แล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์ โดยทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ เพื่อนำเสนอให้ เกาะหมาก เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่มีแผนจัดการขยะการท่องเที่ยว ตามหลักการ Circular Economy ของประเทศไทย

โดย อพท. มีเป้าหมายภายในปี 2570 จะพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบของประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนนำไปสู่การสร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่พิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index: TTCI) ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย รวมถึงการตั้งเป้าหมายมีจำนวนเมืองและชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ตลอดจนอัตราการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ขยายภาคีเครือข่ายการพัฒนา สร้างชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวให้เกิดรายได้และมีการกระจายรายได้ที่ดี และเป็นหน่วยงานที่มีธรรมาภิบาลและความเป็นเลิศในการเป็นต้นแบบด้านท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ


เตรียมประกาศพื้นที่พิเศษ 3 แห่ง

ด้านภารกิจการประกาศพื้นที่พิเศษ อพท. มีพื้นที่เตรียมเสนอ 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา (จังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช) พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ และยังมีพื้นที่แจ้งความประสงค์ขอรับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ จำนวน 7 พื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพะเยา พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม จังหวัดราชบุรี จังหวัดตรัง และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดยทุกพื้นที่เตรียมการประกาศฯ อพท. จะดำเนินการภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมกับภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ตั้งแต่กระบวนการศึกษาและประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ โดยการประกาศพื้นที่พิเศษของ อพท. ต้องได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ 2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ. ศ. 2562 มาตรา 3 และมาตรา 35

เบื้องต้น ในปีงบประมาณ 2565 นี้ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ พพท. เรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. พิจารณาให้ความเห็นชอบการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ เร็วๆนี้ ส่วนพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามลำดับต่อไป


จับมือยูเนสโก ยกระดับท่องเที่ยวยั่งยืน

งานด้านการพัฒนายกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับแหล่งท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ ในปี 2565-2566 เตรียมเสนอ จังหวัดน่าน และจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. ต่อยูเนสโก ให้เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UCCN) การยกระดับแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC จะผลักดัน เกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 เพื่อย้ำความสำเร็จที่ อพท. วางเป้าหมายให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ Circular Economy ของประเทศไทย และผลักดันสู่การได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์มาตรฐาน Green Destinations ระดับโลกในปี 2570

สำหรับมิติด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ อพท. ได้ร่วมกับยูเนสโก จัดทำเครื่องมือการประเมินผลการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งมรดกโลก หรือ VMAST (Visitor Management, Assessment and Strategy Tool) ในการจัดการแหล่งมรดกโลกของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมา อพท. เป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่นำเครื่องมือการประเมินและพัฒนากลยุทธ์การจัดการนักท่องเที่ยวฯ มาใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพด้าน Supply Side ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแหล่งท่องเที่ยวทุกพื้นที่ ไม่ได้จำกัดเฉพาะพื้นที่มรดกโลก

เพิ่มชุมชนต้นแบบ 27 แห่ง

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและชุมชน ในปี 2565 อพท. ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพตามมาตรฐาน ท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 27 ชุมชน พร้อมกับผลักดันชุมชนที่ผ่านการพัฒนาแล้วเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และตลาดจัดประชุมและนิทรรศการไม่น้อยกว่า 15 ชุมชน ครอบคลุม 6 พื้นที่พิเศษและ 15 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์)

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ของอพท. ได้รับเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 จำนวน 2 แหล่ง คือ เมืองเก่าน่าน จังหวัดน่าน และเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย และอีก 1 แห่งคือ จังหวัดเพชรบุรี ได้รับเลือกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Gastronomy) ของยูเนสโก รวมทั้งน่านยังได้รับรางวัล PATA Gold Awards 2021 จากหลักสูตร CBT Integrated สาขา Human Capital Development Initiative ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติ จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ PATA ชุมชนที่ อพท. พัฒนา ได้รับรางวัลส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือกินรี (Thailand Tourism Awards 2021) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จำนวน 27 ชุมชน และการที่องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ
(UNWTO) ประกาศให้ชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน เป็นหมู่บ้านที่มีศักยภาพระดับโลก โดยได้รับการบรรจุใน Upgrade Programme ภายใต้รางวัล UNWTO Best Tourism Villages 2021


ชุมชนที่รับการพัฒนาสร้างมูลค่าได้สูงขึ้น

นอกจากนั้น ในปี 2564 อพท. ยังได้ทำการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return On Investment: SROI) โดยเก็บข้อมูลจากชุมชนนำร่อง 10 แห่ง พบว่าโครงการที่ดำเนินการขับเคลื่อนมาเป็นระยะเวลานาน สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบที่สูง เนื่องจากมีการลงทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียย่อมมีอัตราการยอมรับมาตรการโครงการและนำไปปฎิบัติมากขึ้น เช่น ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตำบลกกสะทอน จ.เลย ที่สามารถสร้างผลกระทบทางสังคมได้สูงถึง 5.44 ล้านบาท (มูลค่า ณ ปีฐาน 2556) และ 6.59 ล้านบาท (มูลค่า ณ ปีฐาน 2556) ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ (1) มีการลงทุนในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างต่อเนื่อง (2) มีการผลักดันเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวท้องถิ่น และ (3) ระยะเวลาในการสร้างผลประโยชน์นาน

อย่างไรก็ตาม 10 ชุมชนนำร่อง ที่ อพท. ดำเนินการสำรวจ ได้แก่ 1.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าระแนะ จ.ตราด 2.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชน ตำบลไม้รูด จ.ตราด 3.ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี 4.ชมรมเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนคุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ 5.ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดีอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี 6.ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย 7.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขง ประมงพื้นบ้านเชียงคาน จ.เลย 8.ชุมชนไทดำนาป่าหนาด จ.เลย 9.วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศอำเภอภูหลวง จ.เลย และ 10.ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน จ.เลย


กำลังโหลดความคิดเห็น