ที่ปรึกษาธุรกิจด้าน ESG แนะหลักคิดและหลักสำคัญของการปฏิบัติสำหรับองค์กรที่เริ่มทำ ESG พร้อมไขความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง Sustainability กับ ESG ย้ำช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ
ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา ที่ปรึกษาธุรกิจด้าน ESG และการทำรายงานความยั่งยืน กล่าวถึง ESG กับความได้เปรียบทางการแข่งขัน ว่า ESG ย่อมาจาก Environmental (ด้านสิ่งแวดล้อม) Social (ด้านสังคม) Governance (การกำกับดูแล) ซึ่งหมายถึง การนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและมีธรรมาภิบาลในการบริหาร มาพิจารณาในการวิเคราะห์ คัดเลือก และบริหารการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจและดึงดูดนักลงทุน
สำหรับองค์กรที่เพิ่งริเริ่มทำ ESG ต้องมีหลักคิด เริ่มด้วยการมองที่ตัวคุณค่าของบริษัทก่อน ว่าต้องการที่จะส่งมอบคุณค่าแบบใด และไปสอดคล้องเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือด้านการกำกับดูแลในประเด็นใดบ้าง แล้วจึงเรียงลำดับประเด็นที่สำคัญต่อการกระทำของธุรกิจหรือองค์กร
หลักสำคัญในการปฏิบัติคือควรสร้างความเข้าใจให้กับคนในองค์กรก่อน โดยมีการคุยกันภายในทีม SD (Sustainable Development) เมื่อสร้างความเข้าใจเรียบร้อยแล้วจะช่วยให้คนในองค์กรมองไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็คือความยั่งยืนขององค์กรนั่นเอง
แม้ว่าโดยส่วนใหญ่องค์กรที่ทำเรื่อง ESG จะเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะ ESG เป็นแนวคิดมาจากนักลงทุน ซึ่งบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะพยายามดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในบริษัท โดยการดำเนินงานบนแนวคิดของ ESG แต่ทว่า ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีบริษัทเล็กๆ คำนึงถึงเรื่องนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากภายนอก นั่นก็คือลูกค้ามีต้องการ สำหรับบริษัทที่จะมาเป็น Supplier ว่าจะต้องผ่านแบบประเมิน ซึ่งก็คือการทำงานด้าน ESG หรือด้าน Sustainability ส่งผลให้ ณ ตอนนี้ บริษัทเล็กๆ เริ่มทำเรื่องนี้กันมากขึ้น เพื่อเป็นการลดการสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจไป
อย่างไรก็ตาม คำว่า Sustainability และ ESG มีความเหมือนหรือแตกต่างกันดังนี้ คำว่า Sustainability คือปลายทางที่จะทำให้องค์กรก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ส่วนคำว่า ESG ประกอบไปด้วย 1. ด้านบรรษัทภิบาล มองในเรื่องของจริยธรรมในการทำธุรกิจ การปกป้องการคอรัปชั่น 2. ด้านสังคม อาจเป็นเรื่องของการดูแลพนักงาน ความปลอดภัย สิทธิมนุษยชน และ3. ด้านสิ่งแวดล้อม อาจเกี่ยวข้องกับการจัดการหรือการใช้พลังงาน เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่ควรรู้คือ สิ่งไหนที่เป็นประเด็นความสำคัญกับธุรกิจ ควรเลือกประเด็นนั้นนำมาจัดการก่อน ท้ายที่สุดปลายทาง คือการทำให้องค์กรสามารถดำเนินงานและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ที่ปรึกษาธุรกิจด้าน ESG กล่าวย้ำว่า ESG สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เนื่องจากองค์กรที่ทำ ESG เหมือนเป็นการที่บริหารจัดการความเสี่ยงโดยไม่ได้มองมิติแค่ด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งนี้คือการที่ทำให้ทุกหัวข้อสมดุลกันทั้งในส่วนของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การคิดสินค้าชนิดหนึ่งออกมาและสิ่งนั้นสามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้ คือการสร้างความได้เปรียบ เพราะปัจจุบันนี้มีกลุ่มลูกค้าที่พร้อมที่จะจ่ายในราคาแพงขึ้นเมื่อสินค้านั้นสามารถสร้างผลกระทบด้านบวกแก่สังคมได้ และนอกจากจะดึงดูดลูกค้าแล้วยังสามารถดึงดูดนักลงทุนได้อีกด้วย