xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มรภ.เชียงราย พัฒนาหลักสูตรรับมือแผ่นดินไหว! ให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แผ่นดินไหว” หนึ่งในภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ถึงแม้ประเทศไทย ไม่ได้เกิดเหตุบ่อยครั้ง เหมือนประเทศที่ตั้งอยู่โดยรอบวงแหวนภูเขาไฟ แต่หากเกิดขึ้นก็สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดาพร ปัญญาพฤกษ์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ผู้ริเริ่มพัฒนางานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาหลักสูตรภัยพิบัติแผ่นดินไหวสำหรับเยาวชนและประชาชน จังหวัดเชียงราย” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เล่าว่าจากเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.0 บริเวณจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ส่งผลให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทั้งวัด สถานที่ราชการ โบราณสถาน บ้านเรือนประชาชนมากกว่า 8,000 หลังคาเรือน ได้รับความเสียหาย รวมถึงมีผู้เสียชีวิต 2 ราย จากสถานการณ์ครั้งนั้น เกิดการถอดบทเรียนขึ้นมากมาย

ภัยพิบัติแผ่นดินไหว เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในจังหวัดเชียงรายก็มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีรอยเลื่อนจำนวนกว่า 500 แห่ง เมื่อเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง ก็มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ดังนั้นหากมีการเตรียมความพร้อมที่ดี มีความรู้เพียงพอ ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องก็จะทำให้เกิดความปลอดภัย จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้เพื่อให้เป็นหลักสูตรที่สร้างขึ้นมาเอื้อต่อการสร้างองค์ความรู้ต่อเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ สามารถนำไปปรับใช้กับบริบทของแต่ละคนในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย


ผศ.ดร.สุดาพร บอกว่าหลักสูตรนี้ได้เริ่มต้นการศึกษาที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเยาวชนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์กับทุกช่วงวัย โดยในพื้นที่ 1 อำเภอจะเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนสมัครใจเข้าร่วมงานหลักสูตรภัยพิบัติแผ่นดินไหวสำหรับเยาวชน 1 แห่ง ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีนักเรียนที่เข้าร่วมประมาณ 40 คนขึ้นไป

โรงเรียนแต่ละแห่งที่เข้าร่วมงานวิจัยหลักสูตรจะมีเครือข่ายแกนนำภัยพิบัติแผ่นดินไหวไปด้วย เริ่มต้นจากการอบรมครูวิทยากรแกนนำให้ได้รับความรู้ความเข้าใจ เรียนรู้หลักสูตรเบื้องต้น เสริมความรู้เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวลงไปยังนักเรียนต่อไป โดยหลักสูตรการสอนจะมีทั้งหมด 4 หน่วยใหญ่ ซึ่งมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านภูมิศาสตร์ การศึกษา และหน่วยงานด้านความปลอดภัย ประกอบไปด้วย "ภัยพิบัติแผ่นดินไหวใกล้ตัว" ที่สอนให้เห็นลักษณะ สาเหตุ อันตราย ความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย ให้ดูรูปภาพความเสียหาย หรือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักในเรื่องของอันตรายจากแผ่นดินไหวได้มากขึ้น

จากนั้นเป็น "เตรียมตัวรับมือแผ่นดินไหว" ที่เน้นเรื่องของโครงสร้างของสถานที่ บ้านที่ปลอดภัยเป็นอย่างไร โครงสร้างส่วนไหนที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว สิ่งของที่วางไว้ต้องวางอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกหล่นมาเมื่อมีแผ่นดินไหว รวมถึงศึกษาเส้นทางที่ปลอดภัย สร้างจินตนาการว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาจะไปอยู่ที่ไหน พร้อมกับการเตรียมกระเป๋าอุปกรณ์ยังชีพ เรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเน้นการใช้อปุกรณ์แสวงเครื่องที่อยู่ใกล้ตัว เช่น หนังสือ ผ้าเช็ดหน้า ไม้บรรทัด

ต่อมาคือ "เมื่อเกิดแผ่นดินไหวปลอดภัยได้" สร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมา เรียนรู้การอพยพ เริ่มจากการเรียนรู้การมีสติ สามารถหลบภัยในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในอาคารนอกอาคาร ฝึกซ้อมการอพยพ สุดท้ายคือ "เรียนรู้หลังเกิดแผ่นดินไหว" ที่เน้นการตรวจสอบความเสียหาย อาการบาดเจ็บของสมาชิกในทีม และตรวจสอบจำนวนสมาชิก เนื้อหาทั้งหมดนี้มาจากวงจรเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทั้งก่อนเกิดแผ่นดินไหว ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว และ หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ขณะเดียวกันหลักสูตรดังกล่าว ยังได้นำไปสอนกับประชาชนทั่วไปด้วย โดยปรับหลักสูตรไปตามบริบทการใช้ชีวิตด้วย โดยจะเน้นการปฏิบัติมากกว่าหลักสูตรในกลุ่มเยาวชน ทำให้เห็นภาพ ใช้เวลาที่น้อยกว่า ซึ่งสามารถช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงการเตรียมตัวรับมือแผ่นดินไหวได้มากขึ้น




หลักสูตรระยะสั้น ที่นำไปปรับใช้ได้

สำหรับหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรระยะสั้น ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้หลายรูปแบบ ดึงบางกิจกรรมไปใช้ในหลักสูตรร่วมกับตัวชี้วัดของโรงเรียนแต่ละแห่งได้ หรือทำเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรรวมถึงในรูปแบบชุมนุมก็ได้เช่นกัน โดยหลักสูตรสำหรับเยาวชนนั้นจะใช้เวลารวมประมาณ 2 วัน 12 ชั่วโมง แต่หากเป็นหลักสูตรสำหรับภาคประชาชนจะเป็นเวลา 1 วัน 6 ชั่วโมง โดยหลังจากเรียนรู้หลักสูตรนี้ก็จะมีการประเมินผลจากการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามและแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เข้าเรียน

"หลังจากที่ได้อบรมหลักสูตรดังกล่าวก็ได้มีการสอบถามความเห็นจากทั้งนักเรียนและประชาชนก็พบว่า ทุกคนมีความเข้าใจต่อภัยพิบัติแผ่นดินไหวมากขึ้น ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม และเห็นว่าหลักสูตรนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกคน พร้อมกันนี้ครูแกนนำภัยพิบัติแผ่นดินไหวสามารถขยายผลไปยังบุคลากรคนอื่นในโรงเรียน รวมถึงสามารถสร้างนักเรียนแกนนำที่ขยายผลนำความรู้เผยแพร่ไปยังนักเรียนคนอื่น ๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย ถ้ามีการต่อยอดงานวิจัยนี้ในอนาคตอาจจะเน้นการศึกษาอย่างครบวงจร โดยให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือแหล่งการเรียนรู้ที่ไม่ได้เป็นเพียงหลักสูตรระยะสั้นต่อไป" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดาพร กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น