ทำไมวันช้างไทยต้องเป็นวันที่ 13 มีนาคม
เพราะคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยและคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้คนไทย หันมาสนใจช้าง และให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น ประกอบกับวันที่ 13 มีนาคม เป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ “ช้างเผือก” เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย คณะอนุกรรมการจึงได้นำเสนอมติตามลำดับเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 และในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 มีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ให้วันที่ 13 มีนาคม เป็นวันช้างไทย
กำหนดวันช้างไทยไปเพื่ออะไร
เพื่อให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง และให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น โดยเฉพาะช้างป่ายังคงมีปัญหากระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างป่า อีกทั้งทุกวันนี้ ช้างไม่ได้ถูกนำมาใช้งานลากจูงไม้ซุงจากในป่า เหมือนกับสมัยก่อนอีกแล้ว ช้างเลี้ยงอาจถูกมองเป็นแค่สัตว์เลี้ยงสำหรับสร้างความบันเทิง ส่วนช้างป่า ยิ่งอาจจะถูกมองไร้ค่า มีไว้เพื่ออะไร มิหนำซ้ำมาสร้างปัญหาให้กับคนอีก
ลูกช้างป่าพลัดหลง “ทับเสลา” กรณีหนึ่งที่ชวนให้คนใส่ใจ และตระหนักอนุรักษ์ช้างป่า
เรื่องราวดรามาของลูกช้างป่าพลัดหลงโขลงแม่ ที่ห้วยทับเสลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หลายคนอาจจดจำกันได้เมื่อราว 2 ปีที่แล้ว ก่อนย้ายมาหาแม่รับ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ซึ่งกว่าจะได้แม่รับตัวจริง ก็ใช้เวลาหลายวัน หลายแม่รับที่นำมาทดลองให้ใช้ชีวิตร่วม จนล่าสุดมีแม่รับตัวถาวรแล้ว คือ แม่ช้างป่า ชื่อว่า วาเลนไทน์ ซึ่งในอีกสองเดือนข้างหน้านี้ (พ.ค.2565) พังทับเสลา อายุจะครบ 2 ปีครึ่ง (ล่าสุดยังไม่หย่านมขวดนะ)
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ เมื่อปีที่ผ่านมา (2564) พบว่า ปัจจุบันช้างเอเชียจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ พบเฉพาะบางพื้นที่ใน 13 ประเทศ เท่านั้น ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ ภูฏาณ จีน เมียนมาเวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งสถานการณ์ของช้างไทยเองนั้น ก็เริ่มขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ รวมถึงสภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่า ก็มีขนาดลดลงจากเดิม จนเกิดปัญหาคนกับช้างป่ามายาวนาน
ปัจจุบัน ( ข้อมูล ณ 2564) มีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168-3,440 ตัว อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม พบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว โดย กลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่ามาก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าตะวันออก และ กลุ่มป่าแก่งกระจาน
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งที่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่าเริ่มขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ พื้นที่เป็นภูเขา มีความลาดชันสูง ทำให้สภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่ามีขนาดลดลงจากเดิม เนื่องจากผืนป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อาศัยของช้างป่าดังกล่าว ไม่เชื่อมโยงกัน ถูกแบ่งแยกตัดขาดออกจากกัน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน การขยายพื้นที่เกษตร การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างเส้นทางคมนาคมที่ผ่านป่าสมบูรณ์ การก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยใกล้ชิดตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และกำลังกลายมาเป็นปัญหาที่สำคัญและเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี
ทางกรมอุทยานฯ จึงได้กำหนดให้มีบริหารจัดการช้างป่าทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อการอนุรักษ์ช้างป่า ตลอดจนลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างถูกทำลาย ทั้งการป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าและการตัดไม้ ป้องกันไม่ให้มีการล่าช้าง ปรับปรุงป่าเสื่อมโทรมให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามหลักวิชาการ รวมทั้งกลุ่มป่าบางแห่งที่เป็นเส้นทางช้างในอดีตที่ถูกตัดขาดไม่ต่อเนื่อง ก็จะมีการสร้างแนวเชื่อมต่อพื้นที่ให้เป็นป่าผืนใหญ่เชื่อมต่อหากันได้ เป็นต้น