"ศูนย์สุขภาวะครอบครัว" โดย ม.มหิดล - องค์กรส่วนท้องถิ่น จ.อำนาจเจริญ ร่วมจัดตั้ง พร้อมขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม-การเกษตร-สาธารณสุข สร้างขุมพลังทางเศรษฐกิจและสังคมไทย
นับเป็นเวลาเกือบครบ 2 ทศวรรษแล้ว ที่จังหวัดอำนาจเจริญได้รับการจัดตั้งเป็นจังหวัดลำดับที่ 75 ของประเทศไทย โดยแยกมาจากจังหวัดอุบลราชธานี
ชื่อ "อำนาจเจริญ" มาจากราชทินนาม "พระอมรอำนาจ" ในสมัยร.4 ปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งใน "ขุมพลังทางสังคม" ของภาคอีสานที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม-การเกษตร-สาธารณสุข จากนโยบายกระจายอำนาจรัฐสู่ชุมชน "1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย" ที่ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยแบบบูรณาการ
ภายใต้แนวคิด "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เคยให้ไว้กับสังคมไทยก่อนหน้านี้ ได้จุดประกายให้เกิดการรวมพลังระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโจทย์ต่างๆ ที่ท้าทายของยุคสมัยอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นแนวคิดที่เปรียบโจทย์ที่กำลังท้าทายสังคมว่าเป็นดั่ง "ภูเขา" ที่ยากจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว หากไม่ได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เช่นเดียวกับ "ศูนย์สุขภาวะครอบครัว" หรือ "FWC-MUAM Family Well-Being Center of Amnartcharoen Campus, Mahidol University" โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลสร้างนกทา อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้ความร่วมมือของ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องของจังหวัดอำนาจเจริญ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ ฯลฯ ภายใต้วิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจังหวัดอำนาจเจริญให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายแพทย์สุรพร ลอยหา รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ถึงบทบาทของ "ศูนย์สุขภาวะครอบครัว โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล" ว่าในช่วงแรกจะเน้นหนักไปที่ความปลอดภัยในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยในชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ ด้วยแพลทฟอร์ม "Safety Hunter" หรือ "ภารกิจพิชิตจุดเสี่ยง" ที่ออกแบบขึ้นเพื่อการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัย และการพัฒนาเด็กปฐมวัยสู่พลเมืองโลกคุณภาพ ซึ่งริเริ่มและพัฒนาขึ้นโดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังเป็นที่แพร่หลายในแวดวงการพัฒนาเด็กปฐมวัย และในวงกว้าง
"ด้วยศักยภาพที่ครบพร้อมทั้งในด้านนวัตกรรม-การเกษตร-สาธารณสุขของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้ "ศูนย์สุขภาวะครอบครัว โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล" เป็นกำลังสำคัญในการ "เขยื้อนภูเขา" หรือ "กับดักทางเศรษฐกิจและสังคม" ของประเทศไทยได้ต่อไปในอนาคต ด้วยชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมหิดลที่พร้อมด้วยความเข้มแข็งทางวิชาการแบบบูรณาการครบวงจร เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำพาชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ และประเทศชาติ สู่อนาคตแห่งความเป็นอยู่ที่ดี มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง" นายแพทย์สุรพร ลอยหา กล่าว
โดยจะได้มีการต่อยอดจากหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการ Upskill - Reskill ทักษะที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ รวมทั้งสนองนโยบายโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ "1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย" ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษา ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้ง "สร้างคน" และ "สร้างรายได้" ให้กับชุมชนต่อไปอีกด้วย
นายแพทย์สุรพร ลอยหา กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่กำลังน่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ของชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ เกิดขึ้นเช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ ในท้องถิ่นห่างไกลส่วนใหญ่ของประเทศ คือ การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนป้องกัน COVID-19 การทำ Home Isolation หรือการกักโรคที่บ้าน ตลอดจน Community Isolation หรือการกักโรคของชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำโดยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสู่ประชาชนในชุมชนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทางโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล มั่นใจว่าด้วยบุคลากร และองค์ความรู้ที่มีพร้อมอยู่แล้วของวิทยาเขตฯ จะสามารถทำให้ชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญที่เกิดขึ้นดังกล่าวในขณะนี้ได้ต่อไป
และไม่เพียงเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเด็กและเยาวชนของชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ ในอนาคต "ศูนย์สุขภาวะครอบครัว โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล" ตั้งใจจะขยายผลสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อการสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้สูงวัยในชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญต่อไป
"ไม่ว่า "ภูเขา" ข้างหน้าจะมีขนาดมหึมาและหนักหนาเพียงใด เชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะเป็น "ขุมพลัง" ขับเคลื่อนสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของชาวไทยทุกคนได้อย่างแน่นอน" นายแพทย์สุรพร ลอยหา กล่าวทิ้งท้าย