มอบรางวัล 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นครั้งที่ 5 จากจังหวัดสุรินทร์ ลพบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ระยอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จาก 36 กองทุนทั่วประเทศ ที่ส่งผลงานเข้าประกวดและผ่านการพิจารณาเบื้องต้น
รายงานข่าวจากสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ได้มีการมอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นทั่วประเทศประจำปี 2563 หลังจากที่เลื่อนมาเพราะพิษโควิด โดยมี 8 กองทุนสวัสดิการฯ ที่ได้รับรางวัลจากจังหวัดสุรินทร์ ลพบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ระยอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ด้านกองบุญคุณธรรมฯ ตำบลเมืองลีง จ.สุรินทร์ ต่อยอดสวัสดิการ ‘ควายออกลูก’ เป็น ‘วัวออมบุญ’ ซื้อวัวสายพันธุ์วากิวให้สมาชิกเลี้ยงขาย รายได้แบ่งครึ่งเข้ากองบุญ ขณะที่มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการฯ ทั่วประเทศแล้ว จำนวน 6,071 กองทุน เงินกองทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท
วันที่ 9 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ป๋วยได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์ สมถะ มีผลงานด้านการบริหารที่โดดเด่นหลายด้าน นอกจากนี้ ดร.ป๋วยยังได้เสนอแนวคิดด้านสวัสดิการสังคมหรือที่รู้จักกันในชื่อ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ในปี 2516 ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าในช่วงเกือบ 50 ปีก่อน
๐ รางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” ตามแนวคิด ดร.ป๋วย
ในปี 2559 หน่วยงานด้านสังคมหลายหน่วยงานได้ร่วมกันจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วยเป็นครั้งแรก เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ โดยจะมีการจัดงานเพื่อมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นทุกวันที่ 9 มีนาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย
ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา อดีตคณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า การจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” จะจัดขึ้นทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ 2.เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ จังหวัด ภาค และประเทศ และขยายผลกองทุนฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และ 3.เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาล ภาคเอกชน และสังคม ตระหนักถึงคุณค่าของแนวคิดเรื่อง “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” และนำไปสู่การพัฒนาระบบปฏิบัติการด้านสวัสดิการให้ประชาชนเข้าถึงและเหมาะสม
ส่วนองค์กรที่ร่วมจัดประกวดรางวัลจำนวน 8 องค์กร คือ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน, คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ในปี 2563 เป็นการจัดงานปีที่ 5 มีกองทุนสวัสดิการที่ส่งผลงานเข้าประกวดและผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจำนวน 36 กองทุนทั่วประเทศ โดยมีกองทุนที่ได้รับรางวัลรวมทั้งหมด 8 กองทุน 8 ด้าน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีการเลื่อนการจัดงานมาเป็นวันที่ 9 มีนาคม 2565
๐ 8 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นครั้งที่ 5 ปี 2563
การจัดงาน “ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2563 และปี 2565” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ เพื่อมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น จำนวน 8 กองทุน รวมทั้งรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยมีหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 100 คน
ทั้งนี้ การพิจารณารางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น มีคณะกรรมการพิจารณา ประกอบด้วยผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ ศูนย์คุณธรรม ผู้แทนกองทุนที่เคยได้รับรางวัล และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมีผลการพิจารณาดังนี้
1. ด้านการสร้างครอบครัวอบอุ่น (ทุกช่วงวัยและเพศสภาพ) การดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตและคุณค่าในสังคม ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมา อ.เมือง จ.ระยอง
2. กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมาดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
3. ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาดูแล ป้องกัน สุขภาวะในชุมชน ไม่มีกองทุนที่ได้รับรางวัล
4. ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนและการศึกษา เพื่อการเติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพ ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางหลวง อ.บางเลน จ.นครปฐม
5. ด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดงดินแดง อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี
6. ด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะ การจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติ ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนสัจจะวันละ 1 บาท เทศบาลตำบลที่วัง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
กองทุนสวัสดิการชุมชนสัจจะวันละ 1 บาท เทศบาลตำบลที่วัง ให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิ้ลในครัวเรือนมาแลกของกินของใช้เพื่อจัดการปัญหาเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อม
7. ด้านการจัดการที่ดิน/จัดสรรที่ดินทำกิน เพียงพอต่อการดำรงชีพ การจัดการที่อยู่อาศัย ไม่มีกองทุนที่ได้รับรางวัล
8. ด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์
9. ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล ได้แก่ กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
ด้านการจัดสวัสดิการชุมชนแบบองค์รวม หลายมิติ สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการทรัพยากรจากหลากหลายแห่งเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี
10. ด้านการฟื้นฟูระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกลุ่มและภาคี นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นและสังคม ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลหนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
๐ กองบุญคุณธรรมเมืองลีงจาก ‘สวัสดิการควายออกลูกสู่วัวออมบุญ’
กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ซึ่งได้รับรางวัลด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริมให้สมาชิกทำเกษตรอินทรีย์ ทำนาอินทรีย์ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้โรงเรียนในตำบลทำการเกษตรเพื่อนำผลผลิตมาเป็นอาหารเลี้ยงนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เช่น เห็ด หน่อไม้ น้ำผึ้ง และการอนุรักษ์วังปลา ฯลฯ
วิเชียร สัตตธารา เลขานุการกองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง บอกว่า กองบุญฯ เริ่มจัดตั้งในปี 2551 มีชาวบ้านในตำบลสมัครเป็นสมาชิกเริ่มต้นประมาณ 200 ราย กำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนปีละ 2 ครั้ง (กุมภาพันธ์และสิงหาคม) ครั้งละ 185 บาท หรือปีละ 370 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 2,400 คน มีเงินกองทุนประมาณ 2,700,000 บาท
ช่วยเหลือสมาชิก 13 ด้าน เช่น คลอดบุตร 500 บาท เสียชีวิต (ตามอายุการเป็นสมาชิก) 2,500-15,000 บาท ภัยพิบัติ ไฟไหม้ 1,000 บาท บวช เกณฑ์ทหาร 1,000 บาท แต่งงาน 10,000 บาท (มีเงื่อนไข คือต้องเป็นสมาชิก 10 ปีขึ้นไป ไม่ท้องก่อนแต่งงาน ป้องกันการท้องก่อนวัย) ฯลฯ
“นอกจากนี้กองบุญฯ ยังมีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกที่เลี้ยงควาย หากควายออกลูกเราจะให้เงินช่วยเหลือตัวละ 200 บาท เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกกองบุญฯ เลี้ยงและอนุรักษ์ควายเอาไว้ เพราะควายมีแนวโน้มที่จะลดลง ชาวบ้านหันไปใช้ควายเหล็กกันหมด กองบุญฯ จึงส่งเสริมการเลี้ยงควาย เพื่อนำมูลควายไปทำปุ๋ย ลดต้นทุนการทำไร่นา ลดปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมี ตอนนี้มีสมาชิกเลี้ยงควายรวมกันประมาณ 1,900 ตัว” วิเชียรบอกถึงสวัสดิการควายออกลูก และว่าที่ผ่านมา กองบุญฯ จ่ายสวัสดิการควายออกลูกไปแล้วประมาณ 500 ตัว เป็นเงิน 100,000 บาท
ล่าสุดกองบุญฯ ได้จัดทำโครงการ ‘วัวออมบุญ’ โดยกองทุนจะนำเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จำนวน 80,000 บาท เพื่อซื้อวัวแม่พันธุ์เนื้อ สายพันธุ์ ‘วากิว’ ราคาประมาณ 50,000 บาท เพื่อให้สมาชิกที่สนใจเลี้ยง แต่ต้องเลี้ยงอย่างมีคุณภาพ มีแปลงหญ้าให้วัวได้กิน ไม่ใช่เลี้ยงแบบวัวไล่ทุ่ง เพื่อให้ได้วัวเนื้อที่มีคุณภาพดี ตลาดต้องการ เมื่อวัวออกลูก หากเป็นวัวตัวเมียจะนำมาเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ต่อ หากเป็นตัวผู้จะขายเพื่อให้ผู้ซื้อนำไปเลี้ยงเป็นวัวขุน (ราคาประมาณตัวละ 15,000 บาท) รายได้จะแบ่งครึ่งระหว่างผู้เลี้ยงกับกองบุญฯ
“โครงการวัวออมบุญนี้จะทำให้สมาชิกที่เลี้ยงวัวมีรายได้ ขณะเดียวกันกองบุญฯ ก็จะมีรายได้จากการขายวัว ทำให้กองทุนเติบโต มีความยั่งยืน สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้มากขึ้น ดีกว่านำเงินกองบุญฯ ไปฝากธนาคาร เพราะได้ดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย” วิเชียรบอกถึงโครงการวัวออมบุญที่จะเริ่มในเร็วๆ นี้
๐ กองทุนสวัสดิการเทศบาลตำบลบ้านส้องใช้ทฤษฎี ‘ขากิ้งกือ’
สุวัฒน์ ดาวเรือง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี บอกว่า กองทุนฯ จัดตั้งขึ้นในปี 2554 มีวิสัยทัศน์ คือ “กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องเป็นองค์กรกลางในการเชื่อมโยงประสานสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน” ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 5,000 คน มีเงินกองทุนประมาณ 5 ล้านบาทเศษ
คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ยึดหลักการทำงาน ‘ซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ใช้เทคนิคการประสานสิบทิศ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน’ ทำให้กองทุนฯ เติบโตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยใช้ ‘ทฤษฎีขากิ้งกือ’ เป็นแนวทาง เพราะกิ้งกือมีหลายขา เดินไปพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดพลังและถึงจุดหมายได้เร็ว
ประธานกองทุนฯ อธิบายการทำงานว่า ‘ขาที่ 1’ คือ สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มีความหลากหลาย เริ่มจากกลุ่มอาสาสมัครยาเสพติด กลุ่มแกนนำ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มพัฒนาสตรี กลุ่มเยาวชน โดยสมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือน ราย 6 เดือน หรือรายปี รวมแล้วคนละ 365 บาทต่อปี เพื่อนำเงินกองทุนฯ มาช่วยเหลือสมาชิก เมื่อผลการดำเนินงานการจัดสวัสดิการเกิดประโยชน์แก่สมาชิกจริง จึงเกิดเป็น ‘ขาที่ 2’ คือ ท้องถิ่น เข้าร่วมส่งเสริมกองทุน โดยเทศบาลตำบลบ้านส้องสมทบงบประมาณเข้ากองทุนทุกปี
‘ขาที่ 3’ คือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่ร่วมสนับสนุนทั้งงบประมาณและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ‘ขาที่ 4’ คือ ห้างร้าน บริษัท และภาคเอกชนในท้องถิ่น ร่วมบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุน และ ‘ขาที่ 5’ การจัดงานระดมทุน (ปี 2563 เริ่มการจัดงานวิ่ง-เดินเพื่อสุขภาพ เพื่อระดมเงินเข้ากองทุน และมีการบริจาคเงินสมทบ ทำให้มีเงินเข้ากองทุนกว่า 1 ล้านบาท)
ประธานกองทุนฯ อธิบายต่อไปว่า การใช้ทฤษฎีขากิ้งกือยังหมายถึงการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมาหนุนเสริมการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน เช่น กองทุนฯ เป็นแกนหลักในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ โดยร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจัดการท่องเที่ยวชุมชน รายได้ส่วนหนึ่งสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการฯ, การส่งเสริมอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์-สินค้าชุมชน ฯลฯ
“ช่วงโควิดที่ผ่านมา กองทุนไม่ได้จัดงานระดมทุน แต่ยังมีบริษัทห้างร้าน ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปสนับสนุนกองทุน โดยการบริจาคเงินเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้มียอดเงินแล้วประมาณ 1 ล้านบาทเศษ และเทศบาลบ้านส้องสมทบเงินเข้ากองทุนในปี 2565 อีก 1 ล้าน 5 แสนบาท” ประธานฯ กองทุนบอก
ประธานกองทุนฯ บอกด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 กองทุนได้ช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนที่เดือดร้อนทั่วไป โดยนำข้าวสารอาหารแห้งไปแจกจ่ายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ว่างงาน หรือมีรายได้ลดลง นอกจากนี้ยังนำสมาชิกกองทุนและคณะกรรมการร่วมตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงโควิด เช่น วัดไข้ ทำหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายประชาชน ฯลฯ
“ส่วนสมาชิกที่ติดเชื้อโควิดนั้น แต่เดิมเรามีกฎระเบียบช่วยเหลือคนที่เจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลรายละ 3 พันบาท แต่สถานการณ์โควิดช่วงนี้ เมื่อตรวจพบเชื้อโควิด หมอจะให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน ไม่ให้นอนโรงพยาบาลเพราะเตียงไม่พอ จะรองรับเฉพาะคนป่วยหนัก กองทุนจึงต้องปรับระเบียบ คือหากใครติดเชื้อโควิด หมอให้กลับมารักษาตัวที่บ้าน กองทุนจะให้เงินช่วยเหลือรายละ 1,500 บาท เพราะคนที่ติดเชื้อจะต้องหยุดงาน ขาดรายได้ กองทุนจึงต้องปรับระเบียบเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในช่วงโควิดด้วย” ประธานกองทุนฯ บอก
๐ 17 ปีกองทุนสวัสดิการฯ จัดตั้งแล้ว 6,071 กองทุน เงินรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท
กองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลหรือเทศบาลเริ่มมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล/เทศบาล นำร่องในพื้นที่ 99 ตำบลทั่วประเทศ
หลักการสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน คือ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” โดยให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือเดือนละ 30 บาท หรือปีละ 365 บาท (ตามความสะดวกและเหมาะสม) หลังจากนั้นจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนตามระเบียบที่กำหนดเอาไว้ เช่น ช่วยเหลือในยามคลอดบุตร (500-1,000 บาท) เจ็บป่วย (100 บาท /ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน) เสียชีวิต (3,000-10,000 บาท)
นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ รวมถึงสวัสดิการที่ไม่ใช่เงิน เช่น การดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสุขภาพอนามัย ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ เพื่อให้สมาชิกกองทุนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฯลฯ
ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยสมทบงบประมาณเข้าสู่กองทุนต่างๆ ผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รวมทั้งการสมทบงบประมาณจาก อปท. เงินบริจาคจากภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ดังตัวอย่างกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสนับสนุนให้กองทุนเติบโต สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างทั่วถึง
ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล/เทศบาลทั่วประเทศแล้ว จำนวน 6,071 กองทุน มีเงินกองทุนรวมประมาณ 20,027 ล้านบาท