ช่วงหนึ่งจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลถึงสองรอบ 'ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์' ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วมลงพื้นที่ คอยติดตามสถานการณ์ และเฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล
ดร.ธรณ์ ได้โพสต์ภาพ “ขยะทะเล” เป็นขวดพลาสติกในทะเลที่มีคราบน้ำมันจากการรั่วไหลลงทะเลมาเกาะแน่น พร้อมชี้ว่า “ขยะตามภาพนี้ กลายเป็นพาหนะขยายวงผลกระทบ และยากต่อการเก็บและกำจัด”
ดร.ธรณ์ อธิบายว่า เพื่อนธรณ์ถามว่าคนทั่วไปช่วยอะไรได้บ้าง ? ภาพนี้คงตอบได้ เป็นภาพขยะที่กรมทะเล/คณะประมงช่วยกันเก็บมาจากทะเลครับ
ขยะ 80% มาจากแผ่นดิน ไหลมาตามแม่น้ำลำคลอง เมื่อลงไปในทะเล เราเรียกว่าขยะทะเล
เมื่อเกิดน้ำมันรั่วเป็นคราบลอยกลางทะเล ขยะพลาสติกที่มีอยู่มากมาย จะปนเปื้อนน้ำมัน กลายเป็นเหมือนพาหนะนำพาสารไม่พึงปรารถนาลอยไปทั่ว
น้ำมันที่ละลายติดกับขยะพลาสติก จะติดแน่นกว่าปรกติ ขยะลอยตามคลื่นลมง่าย จะพาน้ำมันไปไกล ทำให้ผลกระทบกระจายเป็นวงกว้าง
เมื่อขยะลอยมาติดฝั่ง น้ำมันก็ซึมลงไปในทราย ลอยไปติดในแนวปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน ฯลฯ น้ำมันก็ไปถึงระบบนิเวศงดงามแต่บอบบางเหล่านั้น
สารองค์ประกอบของน้ำมันเมื่อลงไปในพื้นเลนพื้นทราย ฝังตัวเข้าไป กำจัดก็ยากลำบาก ขยะพลาสติกจึงเป็นเหมือนเรือที่นำพาน้ำมันไปสู่ทะเลและชายฝั่งที่ห่างไกลออกไป
การลดขยะพลาสติกทุกชนิด การช่วยกันเก็บบนหาด/ทะเล ล้วนแต่มีส่วนสำคัญที่ช่วยทะเลได้
เราอาจไม่สามารถไปเก็บคราบน้ำมันตามหาดที่เกิดเหตุ แต่เราทุกคนสามารถลด/หยุดขยะที่จะพาน้ำมันไปทำร้ายทะเลรอบๆ ถ้ารักทะเล ถ้าอยากช่วยทะเล ลดขยะ/รีไซเคิล/เก็บขยะพลาสติก คุณช่วยได้แน่นอนครับ
ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ค Thon
Thamrongnawasawat