คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ESR) ร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด มหาชน (NT) ในโครงการ MUEG Mobile Battery Charger นำตู้โทรศัพท์สาธารณะที่หมดความจำเป็นในการใช้งานแล้วมารีไซเคิลพัฒนาเป็นนวัตกรรม ตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถืออัตโนมัติ (Mobile Battery Charger) รุ่นใหม่มีอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการ ส่งมอบให้แก่วิทยาลัยราชสุดา เพื่อบริการแก่ผู้พิการ ประชาชนและสังคม
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นานาประเทศต่างมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG เพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืน เช่นเดียวกับคณะวิศวะมหิดล ได้ริเริ่มโครงการเพื่อสังคม MUEG Mobile Battery Charger โดยมี ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคมและทีมจิตอาสาจากหลายคณะ ร่วมกับ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ นำตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว นำมาต่อยอดพัฒนาเป็น ตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถืออัตโนมัติ พลังแสงอาทิตย์ รุ่นใหม่มีอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการ โดยหลักการทำงานของตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถือ จะนำพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนมาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า โดยใช้แผงโซล่าร์เซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 12 โวลต์ 50 วัตต์ แบตเตอรี่ขนาด 12 วัตต์ 5.5 แอมป์ จากนั้นนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มาเก็บในประจุพลังงานเพื่อบริการชาร์จแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถรองรับโทรศัพท์มือถือได้ทุกรุ่น มีหัวชาร์จหลายแบบให้เลือกและสามารถชาร์จได้พร้อมกันถึง 3 เครื่อง อย่างปลอดภัย ใช้เวลาเพียง 5-10 นาที มีประสิทธิภาพ สะดวก ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักวิศวกรรม
สมจิตต์ ธีระชุติกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานขายและปฏิบัติการลูกค้า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด มหาชน (NT) กล่าวว่า ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนและยกระดับการสื่อสารและดิจิทัลให้กับประเทศเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน มีภารกิจในการให้บริการด้านการสื่อสารที่ทั่วถึงแก่ประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยศักยภาพในการให้บริการโดยเฉพาะเรื่อง 5G และดาวเทียม ทั้งการนำเอาดิจิทัลมาให้บริการภาคการสาธารณสุข การเกษตร และในครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งในการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม จากอุปกรณ์ตู้โทรศัพท์ของ NT ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาออกแบบและผลิตให้เกิดประโยชน์ นับเป็นการประหยัดพลังงาน ช่วยลดขยะในสิ่งแวดล้อม อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยและประชาชนรวมถึงผู้ใช้บริการในโรงพยาบาล
แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิทยาลัยราชสุดา มีภารกิจในการจัดการศึกษาระดับปริญญาให้กับคนพิการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหูหนวก คนตาบอด หรือคนสายตาเลือนราง และคนพิการทางการเคลื่อนไหว ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โทรศัพท์มือถือจึงมิได้เป็นเพียงเครื่องมือการติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำงานออนไลน์ และการเรียนออนไลน์อีกด้วย การชาร์จโทรศัพท์มือถือวันละครั้งจึงไม่เพียงพอ อาจจะต้องชาร์จระหว่างวันด้วย ตู้ชาร์จโทรมือถืออัตโนมัติ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มอบให้แก่วิทยาลัยราชสุดา จึงตอบโจทย์ความจำเป็นในปัจจุบัน และการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างคุณค่าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทางวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมพัฒนาออกแบบตัวอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางการเห็น ซึ่งจะวางบนหน้าระบบแป้นชาร์จ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้พิการทางสายตา ให้สามารถใช้งาน และเข้าถึงข้อมูลผ่านการอ่านอักษรเบรลล์ได้อย่างง่ายดาย