xs
xsm
sm
md
lg

“เสือโคร่งลายพอร์ซเลน” โดย “วศินบุรี” 1ใน30 ผลงานจากศิลปินดัง ในแคมเปญ Tiger Trail เพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“เสือโคร่งลายพอร์ซเลน” ผลงานสร้างสรรค์โดย “วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์”
“เสือโคร่งลายพอร์ซเลน” ผลงานสร้างสรรค์โดย “วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์” หนึ่งในศิลปินแถวหน้าของไทย ได้รับการเชิญ จาก “องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล” หรือ WWF ให้เข้าร่วมงานเพื่อรังสรรค์ไอเดียลงบนชิ้นงานสามมิติรูปเสือโคร่งขนาดเท่าตัวจริง ซึ่งจะนำไปจัดแสดงในสถานที่สำคัญทั่วเกาะสิงคโปร์ ในแคมเปญ “Tiger Trail” ร่วมกับศิลปินจากทั่วโลกอีกกว่า 30 คน เพื่อรณรงค์อนุรักษ์เสือโคร่งในป่าธรรมชาติ

“มนุษย์หาวิธีต่างๆ เพื่อให้บรรลุ และได้มาถึงสิ่งที่ปรารถนา” จากแนวคิดเชิงปรัชญา สู่คุณค่าที่สะท้อนลงบนชิ้นงานศิลปะ “เสือโคร่งลายพอร์ซเลน” ศิลปะจากความคิดลึกซึ้ง ถ่ายทอดเรื่องราวจากเครื่องปั้นดินเผาของประเทศจีนสมัยโบราณ บรรณาการที่แลกเปลี่ยนเพื่อสร้างผลประโยชน์และหนทาง เพื่อสร้างอำนาจบารมี เช่นเดียวกับการครอบครองซากสัตว์ป่า เช่นเสือโคร่ง

ก่อนหน้านี้ ในปีพ.ศ.2561 เขาได้ออกแบบงานศิลปะขนาดจริงซึ่งจัดแสดงบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์ยุติปัญหาการซื้อขายงาช้าง ภาพของช้างแอฟริกันแม่ - ลูกที่ดึงดูดทุกสายตายังคงเป็นที่จดจำ และช่วยปลุกกระแสการอนุรักษ์ช้างในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้

“เสือโคร่งลายพอร์ซเลน” ผลงานสร้างสรรค์โดย “วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์”
วศินบุรี กล่าวว่า “หนังเสือ งาช้าง เป็นสิ่งที่ถูกสะสมตามความเชื่อว่าสื่อถึงพลังอำนาจ แม้แต่เมืองไทยในสมัยก่อน ก็มีการแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าของป่าพื้นเมือง และเคยเป็นสิ่งที่ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องราชบรรณาการไปยังที่ต่างๆ เช่น เมืองจีน และจะได้รับสินค้าฟุ่มเฟือยจากที่นั้นๆ ตอบแทนกลับมา เช่น ผ้า แพรไหม และเครื่องถ้วยดินเผาที่มีค่าต่างๆ”

“ในวันนี้ เราอาจมีค่านิยมและวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม มีวัตถุอื่นๆ มากมายที่ล้ำค่า เพื่อจะใช้สร้างสถานะต่างๆ ที่ปรารถนาได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน คือเราก็ยังคงมีคนที่เหมือนบ้าคลั่ง เเละมีคนที่สร้างภาพ เสมือนว่าเดินตามอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ ทุกฝ่ายมีคนที่เข้าใจ และด่าทอ ซึ่งล้วนคือความจริงที่แตกต่างกัน เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มอง และตัดสิน”

“ทุกวันนี้ แม้การล่าเสือ เพื่อส่งเป็นราชบรรณาการอาจไม่ได้มีอีกต่อไป แต่ปัจจัยที่ทำให้เสือสูญพันธุ์มาจากการทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย และยังคงมีการล่าเสือเพื่อการค้า อีกทั้งการล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ปริมาณเสือลดลงอย่างมากในทุกวันนี้ ซึ่งก็ยังคงเป็นผลจากการกระทำเพื่อสนองความปรารถนาของใครบางคน เพื่อให้บรรลุสิ่งที่ตนเองต้องการไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมาเช่นกัน”

“เสือโคร่งลายพอร์ซเลน” ผลงานสร้างสรรค์โดย “วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์”
“ผมจึงใช้ลวดลายของแจกัน ที่ August The Strong นำกองทหารม้าไปแลกมา มาเพ๊นท์เป็นลายบนตัวเสือ เพื่อสื่อถึงการที่มนุษย์เราทำทุกสิ่ง เพื่อให้ได้มาเพื่อสนองอำนาจ และความต้องการ แต่แม้งานเสือในชุดนี้จะมีชิ้นส่วนครบสมบูรณ์ แต่รูปทรงที่วางอยู่รวมกัน ก็อาจเกิดการบิดเบือน หรือ ถูกวางให้อยู่ในรูปแบบ หรือวิธีการ ตามความต้องการของผู้ที่นำมาจัดวางได้ เพราะสิ่งที่จะกลายไปเป็นประวัติศาสตร์ในอนาคตต่อไป คือสิ่งที่กำลังจะถูกเขียน และมันจะดีหรือเหลือเพียงแค่ความทรงจำ อยู่ที่การกระทำของมนุษย์ อย่างพวกเราเป็นผู้กำหนด”วศินบุรี กล่าวถึง

ร่วมติดตามโครงการ Tiger Trail และชมผลงานของศิลปินจากทั่วโลกที่ร่วมกันแสดงออกและระดมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และเพื่อเป็นอีกพลังที่ยิ่งใหญ่ที่จะปกป้องเสือโคร่งได้ที่ https://bit.ly/33F2LBP