ความคืบหน้าในการดูแลรักษาช้างป่าพลายโค้ก (พลายมงคลศักดิ์) ช้างป่าในป่าเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหน่วยสีระมัน อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน โดยทีมสัตวแพทย์และสัตวบาลจากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับหัวหน้าและเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ชุดที่ 6 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า กลุ่มกรินคีรี กลุ่มอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สุปัญญา
เก่งป๊อป เช็งสุทธา แอดมิน กลุ่มอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า
โพสต์จากรายงานโดยนางสาวมัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ว่า ทีมงานได้เข้าติดตามและรักษาอาการบาดเจ็บของช้างป่า “พลายโค้ก” บริเวณพื้นที่ข้างโรงเรียนบ้านคลองยาง หมู่ที่ 8 ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี อยู่ภายในรั้วไฟฟ้าชั่วคราวจากพลังงานแสงอาทิตย์ ยังพบว่าบาดแผลที่น่ากังวล คือบาดแผลที่บริเวณต้นขาหน้าขวาซึ่งทำให้พลายโค้กก้าวเดินล้มตัวลงนอน และใช้ชีวิตได้ยากลำบาก มีรายละเอียดดังนี้
1. บริเวณต้นขาหน้าขวายังบวม แต่การสร้างหนองในแผลลดลง แผลสดมากขึ้น
2. ลักษณะการเดินยังไม่ปกติ แต่ยกขาได้ดีขึ้น มีการยกตีนลงน้ำหนักได้บ้าง ข้อเท้าบวมลดลง
3. มีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งเร้าไวขึ้นมาก
4.กินน้ำและอาหาร ขับถ่ายได้ปกติ
5. ทำการรักษาอาการบาดเจ็บ ดังนี้
5.1 ทำการล้างเศษดินและสิ่งสกปรกบริเวณปากแผลให้สะอาดก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ทำการระบายหนองร่วมกับการขูดหนองออกและล้างแผลด้วยน้ำเกลือผสมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ น้ำเกลือผสมเบตาดีน ทำการขูดเนื้อตาย ล้างเศษเนื้อตายและหนองออก จากนั้นทำการปิดแผลด้วยครีมฆ่าเชื้อ
5.2 ทำการให้ยารักษาแบบฉีดอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีการยิงยาระยะไกล (ยารักษาการติดเชื้อ ยาลดปวดลดอักเสบ)
6.ทำความสะอาดคอกทุกวัน
ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์และสัตวบาล กำชับให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าสีระมัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เฝ้าระวังความปลอดภัยและสังเกตพฤติกรรมของพลายโค้กอย่างใกล้ชิด
ใช้กระบอกฉีดยาระยะไกลแทนปืนยิงยา
กรมอุทยานฯ พัฒนาเทคนิคและอุปกรณ์เก็บตัวอย่างเลือดช้างป่าระยะไกล โดยไม่ต้องทำการวางยาซึมสำเร็จเป็นครั้งแรก เนื่องจากบาดแผลที่บริเวณต้นขาหน้าขวา ทำให้พลายโค้กก้าวเดิน ล้มตัวลงนอน และใช้ชีวิตได้ยากลำบาก เพราะขาหน้าเป็นขาที่รับน้ำหนักส่วนกลางของร่างกาย (รับน้ำหนักทั้งลำตัวและส่วนหัว) และพลายโค้กมีพฤติกรรมชอบลงแช่น้ำ เพื่อลดไข้ และบรรเทาปวดบาดแผล ทำให้เกิดบาดแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญในการรักษาพลายโค้กคือการเก็บตัวอย่างเพื่อวินิจฉัย โดยเฉพาะการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจประเมินสุขภาพ และหนองเพื่อทำการเพาะเชื้อเพื่อหายาปฏิชีวนะที่เหมาะสมต่อการทำการรักษา รวมถึงการทำแผล ฉีดยารักษาให้ต่อเนื่อง
จึงได้มีการดูแลจัดสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันไม่ให้พลายโค้กลงแช่น้ำด้วยการล้อมรั้วไฟฟ้า และมีสัตวแพทย์ สัตวบาล เจ้าหน้าที่ รวมถึงชาวบ้านที่เกี่ยวข้องให้การดูแล หาอาหารและน้ำมาให้พลายโค้กอย่างต่อเนื่องในช่วงที่รักษาตัว ซึ่งพลายโค้กได้ให้ความร่วมมือในการรักษาค่อนข้างดีจากการที่ช้างป่าเริ่มมีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ที่คอยให้การดูแลมาโดยตลอด ทำให้การปฏิบัติงานทางด้านการรักษาของทีมสัตวแพทย์และสัตวบาลมีความราบรื่น สามารถทำการล้างแผล ขูดหนอง เก็บตัวอย่างหนอง ฉีดยาจากกระบอกฉีดยาระยะไกล (pole syringe) แทนการยิงยารักษาจากปืนยิงยาระยะไกลในช่วงแรก ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณยาที่ให้ได้ และจำนวนลูกดอกยิงยาที่สามารถยิงยาให้ต่อวัน ซึ่งถ้ายิงยาหลายดอกเกินไปช้างป่าจะมีอาการหงุดหงิดและไม่ยอมให้ความร่วมมือในการรักษา
ล่าสุดทีมสัตวแพทย์และสัตวบาล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการพัฒนาเทคนิคและประดิษฐ์อุปกรณ์เก็บตัวอย่างเลือดช้างป่าระยะไกลได้สำเร็จโดยไม่ต้องทำการวางยาซึมเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่กรมอุทยานฯ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อห้าจังหวัด กลุ่มอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่า ชาวบ้าน อาสา ประชาชนทั่วไป และผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหลายท่านฯ ทำการรักษาช้างป่ามา สร้างความดีใจแก่ทีมงานรักษาดูแลทุกคนเป็นอย่างมาก ซึ่งการเก็บเลือดครั้งนี้จะสำเร็จไปไม่ได้หากขาดเจ้าหน้าที่และทีมติดตามดูแลช้างป่าที่สามารถสร้างความคุ้นเคย และสร้างความไว้ใจให้กับช้างป่า
ตอนนี้ค่าผลเลือดที่ออกมาพบค่าเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นเล็กน้อย อาจเป็นผลมาจากบาดแผลมีการติดเชื้อ และค่า creatine kinase สูงขึ้น อาจเป็นผลเนื่องมาจากกล้ามเนื้อได้รับความเสียหาย และเก็บตัวอย่างเลือดตรวจวิเคราะห์ผลทุกสัปดาห์ จึงต้องทำการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งเดือน