ผลการสำรวจเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียนที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารยูโอบีประจำปี 2564 พบว่า ชาวไทยเลือกผลิตภัณฑ์และลงทุนเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น หลังตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ออนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกหลาน
กว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างชาวไทย (ร้อยละ 52) ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น กว่า 1 ใน 2 ของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 53) เลือกใช้แบรนด์สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53) กล่าวว่า พวกเขากำลังเปลี่ยนการซื้อสินค้าและบริการในปัจจุบันด้วยทางเลือกที่ยั่งยืนขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 45 ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อสินค้าและบริการที่จัดหามาจากแหล่งที่ยั่งยืน นอกจากการเปลี่ยนมาใช้สินค้าเพื่อความยั่งยืน ผู้บริโภคชาวไทยยังเผยว่า ตั้งใจจะเลิกสนับสนุนแบรนด์ที่ไร้ความรับผิดชอบในช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 กลุ่มตัวอย่าง 6 ใน 10 คน (ร้อยละ 62) ชี้ว่าได้เลิกซื้อสินค้าและบริการจากแบรนด์ที่ฉวยโอกาสจากผู้บริโภคในช่วงการระบาดแล้ว แนวโน้มนี้ยังพบได้ในผู้บริโภคทั่วภูมิภาคอาเซียน กลุ่มตัวอย่าง 5 ใน 10 คนในภูมิภาคนี้ (ร้อยละ 54) ระบุว่าได้เลิกซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่เอาเปรียบผู้บริโภคแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อนหน้า
ความต้องการที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้แก่คนรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป ถือเป็นแรงจูงใจหลักที่ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาเลือกวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามในทุกกลุ่มอายุต่างสะท้อนความรู้สึกเดียวกันนี้ แต่พบมากในกลุ่มมิลเลนเนียล (จากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 57) และกลุ่ม Gen Z (จากเดิมร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 56) ซึ่งต่างเผยว่าอยากให้ลูกๆ ของพวกเขามีอนาคตที่สดใสขึ้น ส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่ม Baby Boomers และกลุ่ม Gen X ที่เห็นด้วยกับความคิดนี้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็นร้อยละ 72 (จากเดิมร้อยละ 38) และจากเดิมร้อยละ 43 เป็นร้อยละ 66 ตามลำดับ ผู้บริโภคทั่วภูมิภาคอาเซียนล้วนแสดงความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยร้อยละ 58 (เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 16) ต่างปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของบุตรหลาน
๐ การลงทุนอย่างยั่งยืนมีแนวโน้มเติบโตขึ้น
นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังมองหาวิธีเพิ่มความเข้มแข็งทางการเงิน (financial resilience) หากไม่คำนึงถึงความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ ผู้บริโภคที่ตัดสินใจคงเงินลงทุนจำนวนเท่าเดิมมีจำนวนมากขึ้นจากเดิมร้อยละ 33 เป็นร้อยละ 43 ทั้งนี้จากการตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้ 1 ใน 3 ของผู้ที่เพิ่มสัดส่วนการลงทุน (ร้อยละ 34) เลือกลงทุนในกองทุนเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น
ยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ธนาคารเชื่อว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนเริ่มต้นจากสิ่งที่ผู้บริโภคเลือกในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่อยู่อาศัย การเดินทาง สินค้าที่ซื้อหรือแม้กระทั่งการลงทุน รายงานการสำรวจเกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอาเซียนโดยธนาคารยูโอบีประจำปี 2564 เผยให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยจำนวน 9 ใน 10 คนต้องการตัวเลือกทางการเงินและการลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้น และเพื่อเป็นการช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้า ธนาคารจึงรวมหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลไว้ในผลิตภัณฑ์การลงทุน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการพิจารณาด้านความเสี่ยง (Risk-First approach) โดยมุ่งให้ลูกค้าเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ก่อนพิจารณาถึงผลตอบแทนจากการลงทุน การเลือกการลงทุนที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และเป้าหมายทางการเงิน จะช่วยให้ลูกค้าสร้างพอร์ตที่ตอบโจทย์ทั้งผลกำไรและจุดประสงค์ด้านความยั่งยืน”
เพื่อขับเคลื่อนความมั่งคั่งสู่การลงทุนอย่างยั่งยืน เมื่อปลายปี 2563 ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จึงได้เปิดตัวชุดกองทุนมุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เช่น กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ซัสเทนเนเบิล อิควิตี้ โซลูชัน ฟันด์ (United Sustainable Equity Solution Fund) หรือ USUS และกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ซัสเทนเนเบิล อิควิตี้ โซลูชั่น ฟันด์ ชนิดเพื่อการออม (United Sustainable Equity Solution Super Savings Fund) หรือ USUS-SSF ณ สิ้นปี 2564 จำนวนลูกค้าที่ซื้อกองทุนดังกล่าวพุ่งขึ้นเกือบร้อยละ 250 นับตั้งแต่เปิดตัว
การสำรวจเกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอาเซียนโดยธนาคารยูโอบี จัดทำขึ้นเพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภคในอาเซียนให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากภูมิภาคนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การสำรวจฉบับปีที่สองนี้จัดทำแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564 มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้นประมาณ 3,500 คนจาก 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน แบ่งเป็น 1,000 คนจากสิงคโปร์ และกว่า 600 คนจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม