xs
xsm
sm
md
lg

แก้ภัยแล้งให้ชุมชนอย่างยั่งยืน! ด้วยนวัตกรรม "ฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์" [ชมคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
กรรมาธิการแก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นำโดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เชิญคณะผู้บริหาร ธกส. และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ร่วมลงพื้นที่ดูวิธีการแก้จนแบบไทย ณ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน จังหวัดขอนแก่น เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา 

โดยเฉพาะการไปชมประสิทธิภาพของฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ ที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและสังคมไทย



ชมคลิป ความสำเร็จการใช้นวัตกรรม ฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์



ชมคลิป ขั้นตอนการทำฝายชะลอน้ำใส้แกนซอยซีเมนต์แบบสันเดียว ราคาประหยัด แข็งแรง เป็นมิตรกับธรรมชาติ

ถามว่า "ฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ " ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินอย่างไร

คำตอบ ฝายแกนดินซีเมนต์ เป็นฝายที่มีแกนเป็นร่องลึก (ฝังลงไปในดินลึก 4 เมตร และแผ่ออกด้านข้างอีกข้างละ 4 เมตร) สามารถกักเก็บและสะสมน้ำในชั้นใต้ดิน เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำมากกว่าฝายแบบทั่วไปที่ไม่มีแกนภายในแกนดินซีเมนต์ ประกอบด้วยเม็ดดินใหญ่น้อยยึดเหนี่ยวกันแน่นหนา นอกจากนี้น้ำที่อยู่ระดับใต้สันฝายจะถูกร่องแกนกักเก็บสะสมไว้ ก่อนถูกดูดซับให้ซึมผ่านเข้าสู่ชั้นใต้ดินและลาดตลิ่งด้านข้าง เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง น้ำที่ถูกดูดซับไปเก็บกักภายในชั้นดินดังกล่าวก็จะซึมออกมาเติมลงไปในลำน้ำทำให้มีน้ำใช้ตลอด

อันที่จริงฝายแกนดินซีเมนต์ ถือเป็นนวัตกรรมชาวบ้าน ทำจากปูนผสมดิน ไม่มีโครงสร้างเหล็ก กรมเจ้าท่าจึงอนุญาตให้สร้างได้ ฝายสูงแค่ 2 เมตรขณะที่ตลิ่งแม่น้ำสูงเกิน 10 เมตร ไม่ถือเป็นการกีดขวางทางน้ำ และข้อสำคัญการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ใช้เวลาสั้นๆ ใช้งบประมาณน้อยแต่เก็บน้ำได้ปริมาณมหาศาล


นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ บอกว่าแนวความคิดและหลักการทำงานของของฝายแกนดินซีเมนต์มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลจริง ให้สังเกตได้จากฝายแกนซอยซิเมนต์ของจริงที่ใช้มาแล้วหลายปี แต่พวกเขาก็ยังสามารถใช้งานได้ดี รวมทั้งยังได้เห็นการกักเก็บน้ำที่เต็มหน้าฝาย แม้ว่าตอนนี้ไม่ใช่ฤดูฝน เกษตรกรมีน้ำใช้ทำเกษตรได้ตลอดปี
ฝายแกนดินซีเมนต์เป็นการนำหลักการพื้นฐานของชุดความรู้ใหม่ที่ควรจะเป็นโครงการที่มีขนาดเล็ก ราคาประหยัด สามารถใช้วัตถุดิบหรือวัสดุในท้องถิ่น อีกทั้งใช้เวลาในการก่อสร้างสั้น ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่น รวมทั้งเกษตรกรสามารถใช้และควบคุมเทคโนโลยีประเภทนี้ได้ด้วยตนเอง

“การสร้างฝายแกนซอยซิเมนต์จึงเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรในประเทศไทยที่ตรงจุดและตอบโจทย์ โดยใช้วิธีคิดแบบใหม่เกี่ยวกับโลกในศตวรรษที่ 20 ที่มนุษย์ต้องการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสันติ เราจะถือว่าเป็นศาสตร์ใหม่ และเป็นปรัชญาใหม่ก็คงได้ครับ”

สำหรับผู้ร่วมคณะ ประกอบด้วยผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) นายพงศ์พันธ์ จงรักษ์ กับคณะผู้บริหารทั้งในส่วนกลางและภาคอีสานกว่า 10 คน ร่วมกับประธานสมาพันธ์เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ นายไพโรจน์ กระจ่างโพธิ์ กับคณะรวม 5 คน เพื่อศึกษาดูงานและเยี่ยมชม รูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรที่กรรมาธิการแก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ ที่เห็นว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรและสังคมไทย