ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ จัดการแสดงปาฐกถาพิเศษว่าด้วยความสำคัญของพันธมิตรหลากหลายอารยธรรม (The Importance of Alliance of Civilizations) โดย ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา (Dr. Muhammad bin Abdul Karim Al-Issa) เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เพื่อรับฟังแนวคิดว่าด้วยการสานเสวนาทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของสังคมโลก และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างอย่างมีเอกภาพ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อความเข้าใจร่วมกันผ่านการสานเสวนาที่จะยังประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติ
ดร.อารีฝีน ยามา นักวิจัยประจำศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการปาฐกถาครั้งนี้ว่า องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2495 มีบทบาทความสำคัญสูงมากต่อโลกมุสลิมและประชาคมมุสลิม มุ่งเน้นทางด้านศาสนา วัฒนธรรมและการศึกษา ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างและส่งเสริมการศึกษา
การมาแสดงปาฐกถาโดย ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา ในครั้งนี้เพื่อสร้างพันธมิตรทางวัฒนธรรม ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นต้นแบบของประเทศที่ประชาชนอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ได้รับฟังแนวคิดในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางวัฒนธรรม อารยธรรมความเชื่อที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการเคารพสิทธิและความเห็นต่างของแต่ละศาสนาและอารยธรรม รวมทั้งแนวคิดในการสร้างความปรองดอง แม้จะมีความต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อแต่ก็สามารถอยู่ด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ
ทั้งนี้ การแสดงปาฐกถาม่งเน้นการสร้างความเชื่อมโยงทางอารยธรรมที่แม้จะมีความแตกต่างแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันยผ่านการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรง โดยพูดคุยถึงความแตกต่าง เพื่อหาจุดร่วมในการที่จะอยู่ร่วมกัน ตามทฤษฎีของแซมมวล พี ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) เรื่องการปะทะทางอารยธรรมที่มีอิทธิพลต่อการเกิดแนวคิดสุดโต่ง องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกจึงมุ่งเน้นที่จะสร้างแนวคิดในเรื่องของการสร้างพันธมิตรทางอารยธรรมที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อประชาคมโลก