xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.หนุนสังคมคาร์บอนต่ำ! เพิ่ม 2 ผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัล! “น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ กรีนดีเซล และไบโอเจ็ต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยบอร์ดคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 1/2565 โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเพิ่มผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัลเป้าหมาย 2 ผลิตภัณฑ์ คือ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ กรีนดีเซล (Bio Hydrogenated Diesel: BHD) และผลิตภัณฑ์ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ไบโอเจ็ต (Biojet fuels)


นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 1/2565 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการกำหนดผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัลเป้าหมายเพิ่มเติมจากที่ได้รับการส่งเสริม จาก 6 ผลิตภัณฑ์เป้าหมายเดิมเป็น 8 ผลิตภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่ 7 คือ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ กรีนดีเซล (Bio Hydrogenated Diesel: BHD) และผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่ 8 คือ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ไบโอเจ็ต (Biojet fuels

การเพิ่มผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัลเป้าหมายที่ 7 คือ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ กรีนดีเซล (Bio Hydrogenated Diesel: BHD) และผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่ 8 คือ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ ไบโอเจ็ต (Biojet fuels) จะเป็นการดูดซับการใช้น้ำมันปาล์มและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ โดย BHD จะเป็นการเติมเต็มการใช้ไบโอดีเซลให้กลับขึ้นไปที่ บี 10 ตามมาตรฐานเชื้อเพลิงยูโร 5 และรักษาระดับการใช้น้ำมันปาล์มดิบไม่ให้ลดลงไปกว่าปีละประมาณ 6.35 แสนตัน 

ส่วน Biojet fuels จะรองรับแนวโน้มการเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสายการบินพาณิชย์ที่บินผ่านน่านฟ้าของสหภาพยุโรปที่ไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ประกาศแผนพลังงานทดแทน (REDII) กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในสหภาพยุโรปไว้ที่ 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งสอดคล้องกับความตกลงปารีส ที่จะต้องลด CO2 ให้ได้อย่างน้อย 40% และกำหนดเป้าหมายการปล่อย CO2 สุทธิ เป็น 0 ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีของไทยในการจำหน่ายไบโอเจ็ตสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ลงจอดที่ไทย


ขับเคลื่อนเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ

อีกวาระ ตามที่ สศอ. ในฐานะคณะอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบภายใต้ กนป. เป็นผู้เสนอ

ผอ.สศอ. กล่าวว่า ความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่สำคัญ ได้แก่

1) ด้านกระบวนการผลิต/เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย สวทช.ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และภาคเอกชน อยู่ระหว่างขั้นตอนการทดสอบและวิเคราะห์คุณสมบัติน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพเทียบกับน้ำมันหม้อแปลงที่นำเข้าจากต่างประเทศ

2) ด้านมาตรฐานและการทดสอบ โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 28/6 เพื่อจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ

3) ด้านสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) อยู่ระหว่างการเสนอร่างประเภทกิจการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 6 ผลิตภัณฑ์

4) ด้านอุปสงค์ หน่วยงานผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น กรมเจ้าท่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยินดีให้ความร่วมมือในการใช้ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย และกระทรวงการคลังได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการสนับสนุน พ.ศ. 2563 ซึ่งรวมถึงพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

"การเพิ่มผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมีคัลเป้าหมายอีก 2 ผลิตภัณฑ์ เป็น 8 ผลิตภัณฑ์ และการขับเคลื่อนตามมาตรการและแนวทางการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มจะเป็นการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม กระตุ้นให้เกิดการลงทุนยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมให้ภาคอุตสาหกรรม ตอบสนองกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการดูดซับผลผลิตปาล์ม ส่งผลให้ราคาปาล์มมีเสถียรภาพและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป" ผอ.สศอ.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น