xs
xsm
sm
md
lg

ก.ศึกษาฯ เดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้ “บริหารจัดการน้ำ” ตามแนวพระราชดำริ หนุนพัฒนาเกษตรกรยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเร็วๆ นี้ “คุณหญิงกัลยา” ลงพื้นที่โคราช ให้ความสำคัญโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ และนโยบาย Coding พร้อมส่งที่ปรึกษา “ภูมิสรรค์” เปิดการเสวนาประชาคมโคราช ครั้งที่2 "น้ำเพื่อการเกษตรและการช่วยเหลือเกษตรกร ร่วมกับก.เกษตรฯ

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาเกษตรกรสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน โครงการพัฒนานวัตกรรมเกษตรอาหารปลอดภัยกลุ่มนครชัยบุรินทร์ งบกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้นำองค์ความรู้เรื่องน้ำสู่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง 47 แห่ง ผ่านโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จัดทำหลักสูตรชลกร พร้อมทั้งขยายสู่ชุมชน เน้นการทำอย่างประหยัดด้วยความร่วมมือของประชาชน ให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งวันนี้ทุกคนจะได้เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ เพื่อใช้น้ำฝนที่ได้มาฟรีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วจะทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน เพราะหัวใจของการทำเกษตร คือ น้ำจึงขอให้เกษตรกรทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจเรียนรู้ พัฒนาตนเองให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย เป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่น ๆ ซึ่งจะสร้างรายได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพเลี้ยงชาวโลก และเมื่อเรียนรู้แล้วก็ขอให้นำไปถ่ายทอดให้ผู้อื่นอย่างให้แพร่หลายต่อไป


นอกจากนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา ได้เดินทางไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 4 เพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการและบรรยายพิเศษ เรื่อง "Coding และการศึกษาเพื่อชีวิต" โดยมีผู้บริหารโรงเรียนเข้าร่วมรับฟังการบรรยาย จำนวน 179 คน โดยได้กล่าวว่า โจทย์ของการศึกษาปัจจุบันคือจะวางพื้นฐานของเด็กทั้งประเทศไปในทิศทางใด เพื่อสู้กับความผันผวนของโลก จึงอยากสนับสนุนให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบ แล้วเพิ่มโค้ดดิ้งและ STI เข้าไป จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันเพื่อเผชิญทุกปัญหาในอนาคตได้ ซึ่งต้องส่งเสริมให้เหมาะกับช่วงวัย โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ต้องเรียนเพื่อให้มีพื้นฐานตั้งแต่อนุบาลควบคู่กับวิชาชีพอื่น ทำให้เกิดโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบขึ้น ปัจจุบันมีโรงเรียนแกนนำแล้ว จำนวน 200 แห่ง

สำหรับการเรียนโค้ดดิ้ง คือ การเน้นกระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ซึ่งโรงเรียนจำเป็นต้องสอนโค้ดดิ้งหลากหลายวิธีการ เช่น การสร้างสิ่งประดิษฐ์ การให้เด็กใช้จินตนาการในการเล่นเกม เป็นต้น จะทำให้เด็กคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล คิดแบบวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กล้าตัดสินใจลงมือทำ ทำผิดแล้วทำใหม่ได้ มีทักษะการอ่านเขียนอย่างมีวิจารณญาณ สิ่งสำคัญคือเรียนโค้ดดิ้งแล้วต้องเพิ่มมูลค่าให้ตนเองและครอบครัวได้

“ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้อบรมครูสอนโค้ดดิ้งไปจำนวนมากแล้ว แต่ต้องขอฝากให้ ผอ.โรงเรียนเข้าร่วมการอบรมครั้งต่อไปด้วย จะได้เข้าใจและตามครูทัน สามารถสนับสนุนการเรียนการสอน โค้ดดิ้งได้อย่างถูกต้อง รวมถึงขอให้ผู้บริหารเน้นความสำคัญของ STEAM Educaion โดย A หมายถึง Art of Life, Art of Living and Art of working Together เช่น ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความเมตตากรุณา ความกตัญญู อารมณ์สุนทรีย์ ซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศมากกว่าร้อยปีอยู่แล้ว ทำให้คนเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ จำเป็นต้องพัฒนาควบคู่กับความรู้ของโลกยุคใหม่อยู่ตลอดเวลา”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

นอกจากนี้ได้มอบนโยบายให้นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เเละนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เปิดการเสวนาประชาคมโคราช ครั้งที่2 เรื่อง "น้ำเพื่อการเกษตรและการช่วยเหลือเกษตรกร ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา