xs
xsm
sm
md
lg

โชว์ต้นแบบ "ห้องสมุดสีเขียว" ม.มหิดล คว้าหลายรางวัลการันตีต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ "โลกออนไลน์" ในปัจจุบันจะเป็นโลกแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดที่ได้กลายเป็นสื่อหลักไปแล้วของผู้คนทั่วโลก แต่ "ห้องสมุด" ก็ยังคงมีความสำคัญ โดยไม่ได้เป็นเพียงคลังแห่งตำรา หรือสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปเล่มต่างๆ แต่ได้ขยายบทบาทสู่การเป็น "คลังความรู้" ที่สำคัญในการจุดประกายให้เกิดการสร้างสรรค์และส่งต่อความรู้ต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

เช่นเดียวกับบทบาทของ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบันที่ได้ผันสู่การเป็น "ห้องสมุดสีเขียว" ที่ไม่ได้เป็นเพียงคลังความรู้เพื่อการสร้างโลก แต่เป็นต้นแบบของการ "รักษ์โลก" ต่อไปอีกด้วย


ในอดีต ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ที่สำคัญในการผลิตบัณฑิตที่จะจบออกไปเป็นบุคลากรทางการแพทย์คอยรักษาเยียวยาผู้คน จากการมีคณะแพทย์ และคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุขเปิดสอนมากที่สุดในประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้เป็นแหล่งปลูกฝังให้นักศึกษาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอนาคตของโลกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หอสมุดฯ ให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียดของการเป็น "ห้องสมุดสีเขียว" ในทุกกิจกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้กระดาษ หรือเพิ่มการประหยัดพลังงาน

นอกจากนี้ ได้มีการออกแบบและดูแลระบบต่างๆ ให้ประหยัด และเหมาะสมตามเกณฑ์ห้องสมุดสีเขียว รวมถึงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ซึ่งสามารถปรับแสงสว่างได้ตามความจำเป็นในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซนที่จัดไว้เพื่อการอ่านหนังสือจะเปิดให้สว่างอย่างเพียงพอ แต่จะเปิดให้สว่างน้อยลงตามลำดับในส่วนอื่นๆ และปิดลงในส่วนที่ไม่มีการเปิดใช้


เช่นเดียวกับการใช้เครื่องปรับอากาศที่จะมีการแบ่งโซนเปิด-ปิดการใช้เครื่องตามจริง จากการออกแบบอาคารขึ้นใหม่โดยวิเคราะห์จากความต้องการของผู้ใช้และจากความจำเป็นของสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 30

นอกจากนี้ เนื่องจากหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแหล่งรวมของตำรา สื่อสิ่งพิมพ์ และการเรียนรู้ที่อยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศเกือบตลอดเวลา จึงได้มองไปที่การใช้ "พลังงานทางเลือก" ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 โดยได้ริเริ่มให้มีการใช้พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ ณ บริเวณสถานที่จอดรถ ที่สามารถสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ส่องสว่างในช่วงกลางคืน

มาถึงปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีโครงการจะติดตั้ง Solar Rooftop หรือหลังคาเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญในการติดตั้ง Solar Rooftop ขนาด 400 กิโลวัตต์ ซึ่งหากเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถลดพลังงานไฟฟ้าได้ถึงครึ่งหนึ่งของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด

ดร.อภิภู สิทธิภูมิมงคล รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการศึกษาและพันธกิจพิเศษ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า นอกจากการเลือกใช้พลังงานทดแทนแล้ว หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้พยายามจะใส่ความเป็น "ห้องสมุดสีเขียว" ลงไปในทุกกิจกรรม เพื่อลดการปล่อย "คาร์บอนฟุตพริ้นท์" หรือก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง


จนที่ผ่านมาสามารถคว้ารางวัลเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ หลายรางวัล อาทิ รางวัลสำนักงานสีเขียว (Green Office) ดีเยี่ยม ประจำปี 2561 ประกาศนียบัตรองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประจำปี 2563 จาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และล่าสุดสามารถผ่านการตรวจประเมินมาตรฐานห้องสมุดสีเขียว (Green Library) ปี 2564 จาก สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ

"หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงเดินหน้าสู่การเป็นห้องสมุดสีเขียวต้นแบบต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการริเริ่ม "นวัตกรรมสีเขียว" อาทิ การนำกระดาษที่ใช้แล้วด้านเดียวมาสร้างสรรค์เป็น "หนังสือทำมือ" บริจาคตามโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้นำมาพับเป็น "ถุงยา" ส่งมอบโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อใช้ทดแทนถุงพลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะ ซึ่งการอนุรักษ์แวดล้อมถือเป็นหน้าที่ของทุกคน" ดร.อภิภู สิทธิภูมิมงคล กล่าวทิ้งท้าย