จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วบริเวณใกล้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตัวของสังคมในด้านการจัดการน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเลและถูกพัดพาเข้ามาสู่พื้นที่ชายฝั่ง ตลอดจนผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์น้ำมันรั่วในครั้งนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงและเปรียบเทียบกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2556 บริเวณอ่าวพร้าว จังหวัดระยองเช่นเดียวกัน ทั้งในมุมมองผลกระทบและการจัดการเพื่อกำจัดน้ำมันและทำความสะอาดบริเวณที่ปนเปื้อน ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ในหลากหลายด้านและเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมในการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงลดผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “เปิดมุมมองวิศวกรรมเพื่อการจัดการน้ำมันรั่วในทะเล” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมในการจัดการเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นในทะเล
ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program (ILP) คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนักวิจัยในหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการจัดการน้ำมันรั่วและการปนเปื้อนของน้ำมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เคยเกิดขึ้นในอดีตทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่าน้ำมันรั่วเป็นอุบัติภัยที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตลอดจนในหลายพื้นที่ทั้งในทะเลหรือบนบก ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลว่าน้ำมันรั่วขนาดใหญ่หลายครั้งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนบก ส่วนเหตุการณ์น้ำมันรั่วในประเทศไทยนั้นมีบันทึกว่ามีการเกิดขึ้นกว่า 182 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2540 จากข้อมูลของกรมเจ้าท่า
โดยมีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สังคมเกิดการตื่นตัวถึงผลกระทบจากน้ำมันรั่ว คือ เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่่อ่าวพร้าวเมื่อปี 2556 และท้ายที่สุดได้อธิบายถึงแนวทางการจัดการน้ำมันรั่วในภาพรวมที่เริ่มจากการควบคุมการเคลื่อนที่ การนำกลับน้ำมัน การใช้สารเคมีเพื่อกระจายน้ำมัน และบางกรณีที่ใช้การเผาเพื่อลดปริมาณน้ำมันที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือแนวทางการจัดการน้ำมันรั่วเมื่อปนเปื้อนบนพื้นที่ชายฝั่ง ตลอดจนหยิบยกกรณีศึกษาที่มีการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศมาเป็นตัวอย่าง
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการจัดการน้ำมันรั่วและการปนเปื้อนของน้ำมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการจัดการน้ำมันรั่วอย่างยั่งยืน 9 ด้าน ได้แก่ (1) โมเดลคาดการณ์การเคลื่อนที่ของน้ำมันที่รั่วไหล (Oil spill modelling) (2) ทุ่นกักน้ำมันและสกิมเมอร์ (Boom & skimmer) (3) สารขจัดคราบน้ำมันทางชีวภาพ (Bio dispersant) (4) หุ่นยนต์เก็บน้ำมันหรือทรายปนเปื้อนน้ำมัน (Oil/sand collecting robot) (5) กระบวนการล้างทรายปนเปื้อนน้ำมัน (Sand washing unit) (6) การจัดการสารล้างหลังการใช้งาน (Solvent recovery) (7) การบำบัดน้ำเสียปนเปื้อนน้ำมัน (Oily waste treatment) (8) การพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายและการติดตามพื้นที่ปนเปื้อน (E-nose for VOC detection & site monitoring) และ (9) การสร้างความร่วมมือและการจัดการองค์ความรู้ (Engagement & Knowledge Management) รวมถึงอธิบายแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในการดำเนินการเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงการบำบัดและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนักวิจัยในหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการจัดการน้ำมันรั่วและการปนเปื้อนของน้ำมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การจำลองการเคลื่อนตัวของน้ำมันที่รั่วไหลจากบริเวณจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 โดยใช้แบบจำลอง Delft3D model ซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เพื่อคาดการณ์กระแสน้ำเนื่องจากน้ำขึ้นน้ำลง และนำกระแสน้ำที่ได้ไปใช้คาดการณ์การเคลื่อนตัวของน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลด้วยแบบจำลอง GNOME ร่วมกับข้อมูลลมที่ได้จากเว็บไซต์ Windy.com รวมถึงข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โดยแบบจำลองดังกล่าวสามารถระบุพื้นที่ชายฝั่งที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนและเส้นทางการเคลื่อนที่ของน้ำมันที่รั่วไหล ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์และเห็นถึงความเร่งด่วนที่จะต้องรีบจัดการกับปัญหา รวมถึงการประเมินผลกระทบและการวางแผนฟื้นฟูในระยะยาวสำหรับบริเวณที่มวลน้ำมันมีการเคลื่อนที่ผ่าน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การวิเคราะห์ความสนใจต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเลบนสื่อสังคมออนไลน์ผ่านทางแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งทีมนักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบสารสนเทศการจัดการภัยพิบัติและความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ช่วยกันเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบก่อนและหลังวันที่ 26 มกราคม 2565 ที่มีการรายงานข่าวเหตุการณ์น้ำมันรั่ว พบว่า #น้ำมันรั่วมาบตาพุด ถูกทวีตและรีทวีตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ชั่วโมงแรกหลังการรายงานข่าว และเมื่อพิจารณาร่วมกับ #น้ำมันรั่ว มีแนวโน้มได้รับความสนใจจากสื่อสังคมออนไลน์สูงมากในช่วง 10 ชั่วโมงแรกหลังเหตุการณ์และยังคงมียอดทวีตสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงชั่วโมงที่ 16
นอกจากนี้ เมื่อลองสร้างเวิร์ดคลาวด์ (Word cloud) ที่ถูกรีทวีตและทวีตรวมทั้งหมดจะเห็นถึงคำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ทั้งการแจ้งเตือนเหตุการณ์และข้อกังวลถึงผลกระทบที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้น การวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์นี้ทำให้เห็นถึงความสนใจและการรับรู้ของผู้คนในสังคมบนสื่อสังคมออนไลน์ที่มีความรวดเร็วในการสื่อสาร ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถใช้ในการวางแผนการสื่อสารในภาวะวิกฤตหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่ควรคำนึงถึงในอนาคต