หลายคนยังไม่เข้าใจความหมายของ "พื้นที่ชุ่มน้ำ" (wetland) ซึ่งเป็นลักษณะทางภูมิประเทศที่มีรูปแบบเป็นพื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม มีน้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขัง หรือท่วมอยู่ถาวร และชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่ของทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
คุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ช่วยชะลอ และป้องกันน้ำท่วม แต่ในปัจจุบันพบว่าพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งได้ถูกบุกรุก ทำลาย และ/หรือถูกพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปใช้ในรูปแบบอื่น เช่น เป็นพื้นที่เกษตรกรรม นิคมอุตสาหกรรม และชุมชนเมือง ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างสาธาณูปโภคต่างๆ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยเพิ่มขึ้นและรุนแรง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นอกจากนี้พื้นที่ชุ่มน้ำจำนวนมากมีความเสื่อมโทรม หลายแห่งถึงขั้นวิกฤต อีกทั้งในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ยอมรับและหันมาตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำมากขึ้น
นับย้อนหลัง 51 ปี วันนี้ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2514 กว่า 160 ประเทศทั่วโลกลงนามร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา RAMSAR ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่และสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ชื่อของเมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน อันเคยเป็นสถานที่จัดการประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญา มีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากลายทางชีวภาพและเกี่ยวข้องกับชนิดพันธุ์และชุมชนประชากรทางนิเวศของนกน้ำ และปลา โดยมีการกำหนดให้ทุกวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (World Wetlands Day) เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ
15 พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Sites)
เข้าตามเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ทั้ง 9 เกณฑ์ เมื่อได้นำมาพิจารณาพื้นที่ชุ่มน้ำในไทยแล้ว พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศทั้งหมด 15 พื้นที่ชุ่มน้ำด้วยกัน
1. พรุควนขี้เสี้ยน
ลำดับที่ 948 (13 กันยายน 2541) จังหวัด พัทลุง ตั้งบริเวณตอนเหนือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นป่าพรุมีน้ำท่วมขังเป็นแหล่งทำรังวางไข่ของนกกาบบัว ที่พบได้ที่นี่เพียงที่เดียว
2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง
ลำดับที่ 1098 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัด บึงกาฬ บึงน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพในฤดูหนาวไม่น้อยกว่า 33 ชนิด และพบนกมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย คือ เป็ดดำหัวดำ
3. ดอนหอยหลอด
ลำดับที่ 1099 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัดสมุทรสงคราม พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลที่หายาก หาดเลนเป็นที่อาศัยของหอยหลอดมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
4. ปากแม่น้ำกระบี่
ลำดับที่ 1100 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัด กระบี่ ผืนป่าชายเลนที่สมบูรณ์ขึ้นหนาแน่น มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์นกที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลกรวมทั้งถิ่นอาศัยของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของประเทศไทย
5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย
ลำดับที่ 1101 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัด เชียงราย บึงน้ำจืดขนาดเล็กแหล่งอาศัยนกอพยพอย่างน้อย 121 ชนิด และนกชนิดพันธุ์หายากซึ่งอยู่ในสถานภาพถูกคุกคามระดับโลก
6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง)
ลำดับที่ 1102 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัด นราธิวาส เป็นป่าพรุดั้งเดิมผืนใหญ่ที่สุดของไทยที่คงเหลืออยู่พบพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นอย่างน้อย 50 ชนิด และสัตว์ที่มีสถานภาพถูกคุกคาม เช่น นกตะกรุม นกเปล้าใหญ่ เป็นต้น
7. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง - ปากแม่น้ำตรัง
ลำดับที่ 1182 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัด ตรัง เป็นถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์ที่หายากและอยู่ในสภาพถูกคุกคาม เช่น นกซ่อมทะเลอกแดง นกฟินฟุต และพะยูน เป็นที่พักของนกอพยพจากแอฟริกา คือ นกหัวโตกินปู ซึ่งในหนึ่งปีอาจพบได้เพียงไม่กี่ครั้ง
8. อุทยานแห่งชาติแหลมสน - ปากแม่น้ำกระบุรี - ปากคลองกะเปอร์
ลำดับที่ 1183 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัด ระนอง มีระบบนิเวศหลากหลาย เป็นพื้นที่ป่าชายเลนแห่งแรกของโลก
9. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
ลำดับที่ 1184 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัด สุราษฎร์ธานี มีเกาะขนาดเล็ก - ใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เป็นแหล่งพักพิงของปลาในวัยเจริญพันธุ์ และวัยอ่อนของปลาเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ปลาทู ปลารัง ปลาเก๋า เป็นต้น และ เป็นแหล่งปะการังที่งดงามที่สุดของไทย
10. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
ลำดับที่ 1185 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัด พังงาเป็นอ่าวตื้น ล้อมลอบด้วยป่าชายเลน และเป็นที่อาศัยของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน
11. อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
ลำดับที่ 2238 (14 มกราคม 2551) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่เชิงเขาของเทือกเขาสามร้อยยอดเป็นแหล่งพักพิงและสร้างรังวางไข่ของนกอพยพและเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของเสือปลาที่ใหญ่ที่สุดในไทยซึ่งมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
12. กุดทิง
ลำดับที่ 1926 (19 มิถุนายน 2552) จังหวัด บึงกาฬ มีลักษณะเป็นกุดมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง พบพันธุ์ปลาเฉพาะถิ่นและเป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพที่มีสถานภาพทุกคุกคามระดับโลกคือเป็ดดำหัวดำ
13. เกาะกระ
ลำดับที่ 2152 (12 สิงหาคม 2556) จังหวัด นครศรีธรรมราช เป็นเกาะขนาดเล็กบริเวณอ่าวไทยเป็นแหล่งปะการังหายากและแหล่งวางไข่ที่สำคัญของต่อตนุและต่อมะเฟือง
14. หมู่เกาะระ - เกาะพระทอง
ลำดับที่ 2153 (12 สิงหาคม 2556) จังหวัด พังงา มีความหลากหลายของระบบนิเวศเป็นถิ่นอาศัยของเต่าทะเลและนกตะกรุมซึ่งเป็นชนิดพันธุ์หายากและใกล้สูญพันธุ์
15. แม่น้ำสงครามตอนล่าง
ลำดับที่ 2420 (15 พฤษภาคม 1562) จังหวัดนครพนม มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ที่สำคัญยังคงเหลืออยู่ในภาคอีสาน พบสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งคือ ปลาบึก ปลาตองลาย ปลายี่สก
ตามรายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) คาดการณ์ว่าทุกทวีปของโลกมีพื้นที่ชุ่มน้ำรวมกันคิดเป็นพื้นที่ระหว่าง 8.3 – 10.2 ล้าน ตร.กม. หรือระหว่าง 5,187 – 6,375 ล้านไร่ (Lehner and Doll, 2004) คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.6-2.0 ของพื้นที่โลก
ส่วนประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างน้อย 36,616.16 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,885,100 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ประเทศไทย แบ่งเป็นพื้นที่น้ำจืดร้อยละ 44.8 และเป็นพื้นที่น้ำเค็มร้อยละ 55.2
สำหรับคุณค่าโดยรวมของพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้แก่ การเป็นแหล่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำฝนและน้ำท่า ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ป้องกันชายฝั่งพังทลาย ดักจับตะกอนและแร่ธาตุ ป้องกันภัยธรรมชาติต่าง ๆ เป็นแหล่งทรัพยากรและผลผลิตทางธรรมชาติที่มนุษย์เข้าไปใช้ผลประโยชน์ เช่น แหล่งอาหาร ยารักษาโรค แหล่งนันทนาการพักผ่อนท่องเที่ยว เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งของผู้ผลิตห่วงโซ่อาหาร ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางธรรมชาติ
ทว่าปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ของโลก รวมทั้งประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม จากการบุกรุกและกิจกรรมการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เช่น การเกษตร การเพาะปลูก การประมง การขยายตัวเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม ต่างๆ โดยมีสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่
1.ขาดข้อมูลพื้นฐานเพื่อการวางแผนการจัดการ
2.ขาดการวางแผนและการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
3.นโยบายและการบริหารจัดการที่แยกส่วน และไม่ชัดเจน
4.ขาดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
5.ชุมชนขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมวางแผนและจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
ข้อมูลอ้างอิง : สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ,WWF