กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่มีขนาดใหญ่ของประเทศ ผู้ประกอบการสินค้า OTOP ที่ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนยังมีจำนวนมาก หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริม และเสริมความรู้ ย่อมจะเพิ่มขีดความสามารถ ภายใต้แนวทางการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงให้กับชุมชน
ในช่วงที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขต สกลนคร ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาจากภาครัฐ ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ผลิต และครอบครัว
ผศ.ดร.กนกกาญจน์ วิชาศิลป์ อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขต สกลนคร กล่าวถึงที่มางานวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อเข้าสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยการสนับสนุนจากจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ว่า การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ขยายช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชนไปยังร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคต้องการความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และมั่นใจคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้า จึงหันไปซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และร้านค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่ผลิตภัณฑ์ชุมชน จะต้องเข้าถึงผู้บริโภคอย่างสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้นช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการทำการตลาด เพื่อผู้ผลิตจะได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับผู้บริโภคได้มีประสิทธิภาพ และสามารถเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มี 2 กลุ่ม คือ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน และบริโภค
1.ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนจำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ และกลุ่มของที่ระลึก โดยเลือกจากกลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพเข้าสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยการสัมภาษณ์และหาข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัด และการสัมภาษณ์เชิงลึก
2.กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในจังหวัดสกลนคร โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ ซึ่งคำนวณกลุ่มตัวอย่าง ด้วยสูตรการคำนวณแบบไม่ทราบจำนวนประชากรที่แน่นอน ที่ระดับความคลาดเคลื่อน ร้อยละ 5 ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 385 ตัวอย่าง
ผศ.ดร.กนกกาญจน์ กล่าวว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและมูลค่าตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวเข้าถึงทุกพื้นที่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผลิตภัณฑ์ชุมชนต้องเข้าถึงผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการทำการตลาด เพื่อผู้ผลิตจะได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจะสามารถเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการผลิตอย่างต่อเนื่อง ยอดขายเพิ่มขึ้น มีรายได้ และสามารถยึดการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาเป็นอาชีพได้
โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกผลิตชุมชนไปจำหน่ายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าจะต้องผ่านกระบวนการผลิต เช่น ผลผลิตทางการเกษตร และอาหารแปรรูป จะต้องได้รับมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา GAP, GMP, HACCP, Qmark, มผช., มอก., มาตรฐานเกษตรอินทรีย์, ฮาลาล และมีบรรจุภัณฑ์ เพื่อการจำหน่ายทั่วไปมาตรฐาน โดยผู้ประกอบการจะต้องมีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพ พร้อมที่จะพัฒนาสินค้าร่วมกัน
สำหรับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ จะต้องออกแบบและสร้างบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า และป้ายฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อการปกป้องคุ้มครอง การสื่อสารสร้างภาพลักษณ์ให้กับชุมชนให้เกิดความสวยงามและทันสมัย สีสันสวยงาม สะดวกในการจัดวางและเคลื่อนย้าย รวมถึงถูกต้องตามข้อกำหนดของการจัดจำหน่ายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น มีการรับรองจาก อย.
ทั้งนี้ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ต้องเลือกให้เหมาะสมตามลักษณะผลิตภัณฑ์ โดยจะต้องเลือกวัสดุที่ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ต้องออกแบบให้เข้ากับรูปแบบการจำหน่าย
ผลิตภัณฑ์ การขนส่ง การแสดงผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการตลาด การให้รหัสสากลจะช่วยในการจัดการคลังสินค้า การขนส่งและการส่งเสริมการตลาด อีกประการที่สำคัญในการเลือกบรรจุภัณฑ์คือต้องปกป้องคุ้มครองผลิตภัณฑ์ และมีต้นทุนที่เหมาะสมอีกด้วย
ผศ.ดร.กนกกาญจน์ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน จะช่วยให้การสนับสนุนในเรื่องของเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ และหากสมาชิกมีกำลังการผลิตเพียงพอ จะสามารถจำหน่ายสินค้าในปริมาณมาก ทำให้กระจายสินค้าไปร้านค้าปลีกสาขาอื่น ๆ ได้อีกทั่วประเทศ ยกระดับและขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ผู้วิจัยได้นำผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 กลุ่ม เสนอเข้าจัดจำหน่ายยังร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีข้อกำหนดที่ผู้ประกอบการต้องทำให้ครบทุกองค์ประกอบ ก่อนที่จะดำเนินการติดต่อเข้าร้านค้าปลีกสมัยใหม่นั้น ผู้ประกอบการทุกรายได้ทำการยื่นขอ อย.สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและยาทุกผลิตภัณฑ์ ที่จะจัดจำหน่ายในโครงการวิจัยนี้ เพื่อให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของ อย. และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งชื่อ ภาษา ขนาดอักษร ข้อความที่ใช้ได้ และทำการขอรหัสสากล และการทำฉลากและบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่มีความถูกต้อง ทันสมัย แต่เนื่องจากกฎหมายฉบับใหม่ และข้อกำหนดของร้านค้าปลีกสมัยใหม่เข้มงวด และมีรายละเอียดมากขึ้น ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนทั้ง 3 กลุ่มอยู่ระหว่างการทำตามข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้นเพิ่มเติม และยื่นเอกสารเพื่อขอนำเสนอผลิตภัณฑ์ ซึ่งรอการพิจารณาเอกสาร ความพร้อม การทำความเข้าใจ และการเปิดบัญชีเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์กับทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่