xs
xsm
sm
md
lg

ต้นแบบฟาร์มผักเคลออร์แกนิค “Superfood” จากเมืองหนาว สู่เมืองนนท์ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผักเคล” หรือ “ผักคะน้าใบหยิก” ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ราชินีแห่งผักใบเขียว’ ตามปกติมีการเพาะปลูกในพื้นที่ซึ่งมีอากาศค่อนข้างเย็นเพราะเป็นพืชเมืองหนาว แต่ “ฟาร์มลุงเครา” ซึ่งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี กลับสามารถนำมาเพาะปลูกจนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด

ผักเคล (KALE) หรือผักคะน้าใบหยิก เป็นพืชเมืองหนาวตระกูลเดียวกับผักจำพวกบรอกโคลี คะน้า และดอกกะหล่ำ มีลักษณะสีเขียวเข้ม ใบหยิกและใบตรง แต่บางสายพันธุ์มีสีออกม่วง โดยในผักเคลมีวิตามินเคสูงที่สุดในบรรดาผักทั้งหมด มีโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดที่ดีต่อร่างกาย มีวิตามินซี แคลเซียมและเบต้าแคโรทีน ด้วยความที่มีสารอาหารจำนวนมากจึงถูกให้เป็น ‘Superfood’ หรือ ‘The queen of green’ ราชินีแห่งผักใบเขียว
 
สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อน การปลูกผักเคลจึงทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็นเพาะปลูกได้ดีในอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส และใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่ที่ “ฟาร์มลุงเครา” กลับนำมาปลูกได้ผลผลิตที่ดี โดยที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และสวนเกษตรอินทรีย์ต้นแบบของ “สมศักดิ์ จุ้ยนาม” หรือ “ลุงเครา” ปัจจุบันได้รับการสานต่อโดย “ศศิธร จุ้ยนาม” หรือ “แซนดี้” ครูภูมิปัญญาไทย ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตผัก ที่จะมาบอกเล่าถึงเรื่องราวของพืชเมืองหนาวที่นำเข้ามาปลูกในเมืองร้อน


จุดเริ่มต้นของการปลูกผักเคลในฟาร์มลุงเครามาจาก พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคเปลี่ยนไปโดยเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และผักเคลก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ได้รับความสนใจและความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เป็นที่ต้องการทางตลาดและมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมา

ศศิธร เล่าถึงแนวคิดในการเลือกปลูกผักเคลว่า “ข้อแรก ฟาร์มของเราเลือกปลูกผักที่ขายได้ราคามากกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากผักเคลเป็นที่นิยมอย่างมากส่งผลให้มีราคาที่สูง จึงทำให้เรานำเข้ามาและเมื่อได้ผลผลิตเราจะขายในราคาที่คุ้มค่าทั้งผู้ให้และผู้รับ ข้อสอง แปรรูปได้ ถ้าหากเปรียบเทียบกับผักชนิดอื่นๆ เมื่อขายไม่หมดไม่สามารถนำมาแปรรูปอื่นๆ ต่อได้ต้องปล่อยให้เน่าไป หรือถ้าสามารถนำมาแปรรูปได้แต่ราคาก็จะลดลงไปด้วย แต่กับผักเคลมันไม่ใช่ เพราะถ้าขายไม่หมดเราสามารถนำมาแปรรูปเป็น ผงผักเคล ผักเคลอบกรอบได้ โดยราคายังคงเท่าเดิมหรืออาจจะสูงขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ และข้อสาม คนรอซื้อเยอะ และเมื่อเริ่มขายได้แล้วทำให้ลูกค้าติดใจ เนื่องจากผักเคลของเราไม่เหมือนเจ้าอื่นเพราะที่ฟาร์มเราทำการเกษตรแบบอินทรีย์ลูกค้าจึงชอบ นอกจากนี้ ยังมีการเพาะกล้าผักเคลขาย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องของการปลูกพืชเมืองหนาวอีกด้วย”

สำหรับวิธีปลูกและการดูแล  เธอเล่าว่า “การปลูกพืชเมืองหนาวกับอากาศร้อน เราต้องเข้าใจถึงกระบวนการการเจริญเติบโตของพืช โดยระบบรากจะส่งผลถึงใบดังนั้น เรื่องแรก ทางฟาร์มจะให้ความสำคัญกับการปรุงดิน เพื่อให้ดินดีส่งเสริมระบบรากให้แตกขยายเพราะยิ่งรากแตกขยายใบพืชก็จะได้ฟอร์มหยิกสวย เรื่องที่สอง ความสำคัญของแสง แสงที่เต็มที่แต่ไม่ร้อนแห้งจะส่งผลให้ผักเคลเจริญเติบโตได้ดี และเรื่องที่สาม ระบบความชื้นที่สัมพันธ์ทั้งดินและการคายน้ำของใบ ที่ฟาร์มของเราไม่ได้มีนวัตกรรมอะไรมาก เราใช้ความเข้าใจ ความต้องการของพืชโดยได้เรียนรู้จากพืช ผสมผสานกับภูมิปัญญาและหลักการทำงานจริงแล้วสำเร็จ”

“ส่วนการดูแลเราต้องใส่ใจทุกช่วงอายุ แบ่งเป็นรอบๆ ละ 20 วัน โดย 1-20 วัน จะเป็นช่วงเพาะกล้า 20-40 วัน เป็นช่วงลงแปลง 40-60 วันเป็นช่วงเติบโตเต็มที่ และ 70 วันขึ้นไปเป็นช่วงเก็บเกี่ยวรักษาดูแล โดยสรุปแล้วสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการปลูกผักเคลหรือพืชเมืองหนาวคือ ธาตุอาหารในดิน แสง ความชื้น โรคพืช และโรคแมลง”


เรื่องผลการตอบรับของตลาด เธอเล่าว่า อยู่ในระดับที่ดีมาก ผักของฟาร์มลุงเคราเน้นคุณภาพมาตรฐานอยู่ในตลาดระดับบน เป็นที่ต้องการของลูกค้าอย่างมาก ที่ผ่านมาไม่ได้ทำการตลาด ใช้วิธีการขายแบบจากน้อยไปมาก ค่อยๆ สะสมลูกค้า และทำด้วยความซื่อสัตย์ เน้นการให้คุณค่าและแบ่งปัน ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่สนใจสร้างรายได้จากการทำเกษตร ควรจะคำนึงว่าชอบจริงๆ หรือไม่ ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายหรือตลาดที่ถูกต้อง และควรจะทำในสไตล์ของตนเอง

ศศิธร ทิ้งท้ายว่า สำหรับแผนในอนาคต กำลังวางแผนเพาะปลูก “ผักเกล็ดหิมะ” ซึ่งแม้จะสามารถปลูกในเมืองร้อนได้ แต่มีความยากในการดูแลเนื่องจากผักเกล็ดหิมะมีความบอบบางมากกว่าผักเคลและหาเมล็ดพันธุ์ได้ยาก แต่จุดน่าสนใจคือนอกจากจะรับประทานได้ ยังนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางได้ จึงเป็นอีกหนึ่งพืชผักที่มีโอกาสทางธุรกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น