xs
xsm
sm
md
lg

ลุ่มน้ำป่าสัก ชู "โคก หนอง นา" เกษตรยั่งยืน สู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) จัดกิจกรรม "เอามื้อ" ณ จังหวัดนครราชสีมา ลุ่มน้ำป่าสัก เดินหน้าภารกิจถ่ายทอดองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่ปีที่ 9 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยลงมือทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ไม่เพียงช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คืนสมดุลให้กับระบบนิเวศ แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร อันเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานสำหรับการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ของมนุษย์ได้อีกด้วย

๐ “โคก หนอง นา” ฝ่าวิกฤตสิ่งแวดล้อม

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “ปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ให้โลกพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น นับเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ เพราะในโคก หนอง นา จะมีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งจะเป็นตัวสร้างสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่ นำมาสู่ความหลากหลายทางชีวภาพหรือ biodiversity จากสิ่งมีชีวิตที่อยู่ทั้งในน้ำ ใต้ดิน บนดิน หรือในป่า อันไม่เพียงช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน แต่ยังช่วยให้มีอาหาร การกินสมบูรณ์ เกิดความมั่นคงทางอาหาร เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของสหประชาชาติในการขจัดความอดอยาก (zero hunger) อีกด้วย การทำเกษตรแบบโคก หนอง นา จึงเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และ ช่วยโลกไปพร้อมๆ กัน”

รวมพลังตามรอยพ่อ ที่โคราช
นอกจากนั้น การทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นยังช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนของภาคการเกษตร ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า “จากข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่าภาคการเกษตรมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนสูง ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ก๊าซมีเทนเกิดมากใน การทำเกษตรเชิงเดี่ยว หรือเลี้ยงสัตว์ประเภทเดียวที่เป็นฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่และใช้ยาปฏิชีวนะ ก็จะทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดก๊าซมีเทนขึ้น ไม่ว่าจะในลำไส้ของสัตว์หรือมูลสัตว์ที่ถ่ายทิ้งออกมา แม้แต่กระบวนการหมักของฟางกิ่งไม้ใบไม้ที่มีสารเคมีอยู่ด้วย ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการใช้น้ำสมุนไพรรสจืดเพื่อกระตุ้นกลไกการทำงานของจุลินทรีย์ให้สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เกิดก๊าซมีเทน ในทางตรงกันข้ามกลับกระตุ้นให้เกิดออกซิเจนขึ้นมาด้วยซ้ำ"

๐ ตามรอยพ่อฯ ปี 9 คืนสู่ลุ่มน้ำป่าสัก


ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวถึงแนวคิดหลักและรายละเอียดกิจกรรมว่า “ครั้งนี้นับเป็นกิจกรรมเอามื้อครั้งแรกของโครงการ ‘ตามรอยพ่อฯ’ ปี 9 หลังจากที่ได้ชะลอการจัดกิจกรรมออนกราวด์ถึงกว่า 1 ปีเต็ม ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมา โครงการ ‘ตามรอยพ่อ’ ได้เดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด ‘9 ปี แห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน’ ผ่านกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของโครงการทั้งเว็บไซต์และ เฟซ บุ๊ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลิปวิดีโอ ‘คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ’ ที่ให้ความรู้พื้นฐานแก่ผู้สนใจลงมือทำการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น"

“โครงการตามรอยพ่อฯ ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 9 ซึ่งเป็นปีสรุปผลความสำเร็จของโครงการ เราจึงกลับมาจัดกิจกรรมในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการตามรอยพ่อฯ เมื่อ 9 ปีที่แล้วอีกครั้ง โดยเลือกพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถีของคุณสุณิตา เหวนอก ซึ่งเป็นหนึ่งใน คนต้นแบบ ‘คนหัวไวใจสู้’ ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ผู้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่และคนรุ่นลูกหลาน รวมถึงแปลงพื้นที่ของตนเองเป็น 1 ใน 19 ศูนย์ช่วยโควิด-19 ในแคมเปญรวมพลังสู้โควิด-19 เราจึงมาจัดกิจกรรมเอามื้อในพื้นที่ของคุณสุณิตา เพื่อแสดงความขอบคุณในความมุ่งมั่นและความเสียสละ”

นายบุญล้อม เต้าแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ กล่าวว่า “นครราชสีมาหรือโคราชเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน มีพื้นที่ป่าเขาและพื้นที่เกษตรจำนวนมาก ทางทิศตะวันตกเชื่อมกับจังหวัดชัยภูมิ เป็นแหล่งรวมลุ่มน้ำสำคัญ 3 ลุ่ม คือ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และทางทิศตะวันตกมีพื้นที่บางส่วนที่ไหลไปลงใน ลุ่มน้ำป่าสัก เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่มีประชากรมากมีความต้องการน้ำสูง ประกอบกับมีภัยแล้งบ่อยครั้ง โครงการจึงนำเสนอพื้นที่ของคุณสุณิตา เหวนอก เป็นพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จในโคราช เพราะได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปลงมือปฏิบัตินั้น สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใด ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย หรือภัยจากโรคระบาด เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถีของคุณสุณิตาก็ผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างดี นอกจากจะสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว ยังส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเพื่อนมนุษย์ในสังคมในชุมชนอื่นๆ ได้อีกด้วย

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
๐ ตามรอยพ่อฯ ด้วยหัวใจ

ด้าน นางสาวสุณิตา เหวนอก (นวล) เจ้าของพื้นที่ เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี ขนาด 6 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวกลาง ต.จักราช อ.จักราช จ.นครราชสีมา กล่าวว่า กิจกรรมเอามื้อในครั้งนี้ประกอบด้วยการทำแปลงปลูกผักอินทรีย์ ขุดปรับคลองไส้ไก่รอบแปลงนาและหนองน้ำ ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ห่มฟาง ใส่ปุ๋ยแห้งปุ๋ยน้ำ ทำเครื่องกรองน้ำถัง 200 ลิตร ทำเครื่องสูบน้ำพลังงานโซล่าเซล แปรรูปผลผลิต อาทิ สบู่ฟักข้าว แชมพูดอกอัญชัน กล้วยหมัก ชาตะไคร้ ไข่เค็ม โดยดำเนินมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้น อาทิ การควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนต้องแสดงผลยืนยันการตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ก่อนร่วมงานไม่เกิน 72 ชั่วโมง รวมถึงเอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม เป็นต้น

4นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  (บนซ้าย)  นางสาวสุณิตา เหวนอก (นวล)  เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี (บนขวา)  อ.บุญล้อม  เต้าแก้ว สวมล้อมศรีรินทร์ สระบุรี  (ล่าง)

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตในแปลง

สาธิตวิธีการทำไข่เค็มดินสอพองใบเตย

รวมพลังตามรอยพ่อ ที่โคราช

กองกำลังเอามื้อจากเครือข่ายทั่วประเทศ

กิจกรรมเอามื้อ ขุดปรับพื้นที่ปลูกผัก

กิจกรรมเอามื้อ ทำฝายในคลองไส้ไก่

พี่นวลเล่าถึงวิธีการใช้งานเตาเผาถ่าน

เครื่องกรองน้ำมาตรฐานโจน (โจน จันได)

สูบน้ำจากหนองเข้าคลองไส้ไก่ด้วยพลังแสงอาทิตย์