อาจารย์สัตวแพทย์ จุฬาฯ “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565” เผยรหัสพันธุกรรม เชื้อดื้อยา ในสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม แนะวิธีแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว”
“เชื้อดื้อยา” เป็นภัยเงียบที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าคร่าชีวิตประชากรโลกถึงปีละ 700,000 คน หากไม่เร่งแก้ไข คาดว่าอีก 30 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอาจสูงถึงปีละหนึ่งล้านคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย การศึกษาเบื้องต้นพบว่าการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามีสถิติสูงถึงปีละประมาณ 30,000 คน! การเร่งหาแนวทางรับมือกับปัญหาเชื้อดื้อยาในวันนี้จึงจำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาสาธารณสุขในวันหน้า
“ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ที่เชื่อมโยงทั้งสุขภาพคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม หากเราไม่ทำอะไรเลย หรือไม่ลงมือแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในตอนนี้ ก็เป็นไปได้ที่เราจะไม่มียาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคติดเชื้อในอนาคต ไม่ว่าจะโรคติดเชื้อในคนหรือในสัตว์” ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น หัวหน้าภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว
ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเชื้อดื้อยาในสัตว์ ประกอบกับผลงานวิจัยมากมายที่ได้รับการผลักดันสู่แผนปฏิบัติการระดับชาติและนานาชาติ ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ดำรงตำแหน่งงานสำคัญมากมาย อาทิ ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามการดื้อยาของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก ผู้อำนวยการศูนย์อ้างอิงด้านเชื้อดื้อยา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO Antimicrobial Resistance Reference Center) และผู้อำนวยการ Global Foodborne Infections Network: South-East Asia and Western Pacific Region องค์การอนามัยโลก ฯลฯ และล่าสุดอาจารย์ได้รับเลือกเป็น “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา” จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ด้วยผลงานวิจัยทางอณูชีววิทยาที่ไขหนทางแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างยั่งยืน
ปัญหาเชื้อดื้อยาในสัตว์ในประเทศไทย
ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ อธิบายว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคทั้งปศุสัตว์และสัตว์น้ำ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อและเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ แต่ปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผล
“ทุกครั้งที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะจะเปิดโอกาสให้เชื้อพัฒนาการดื้อยาและแพร่กระจายยีนดื้อยาได้ ในฟาร์มปศุสัตว์ก็มีการใช้ยาปฏิชีวนะเช่นกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และผู้บริโภคอาจได้รับเชื้อดื้อยาผ่านห่วงโซ่อาหาร จากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนหรือจากการสัมผัสโดยตรงซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ”
นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ก็อาจมีการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน เชื้อดื้อยาไม่ว่าจะอยู่ในคน สัตว์หรือสิ่งแวดล้อม ย่อมส่งผลกระทบถึงกันหมด
อณูชีววิทยา กับทางออกปัญหาเชื้อดื้อยา
การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกี่ยวข้องสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคนั้นไม่ง่าย เนื่องจากภาคปศุสัตว์ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะ โจทย์ท้าทายจึงกลับมาที่นักวิจัย ซึ่ง ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการความปลอดภัยทางจุลชีววิทยาในอาหารและการดื้อยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ค้นคว้าวิจัยเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาด้วยความรู้ด้านพันธุกรรมและใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยาเพื่อตอบคำถามว่า ทำไมเชื้อดื้อยาบางชนิดจึงพบมากในประเทศไทย เหตุใดเชื้อดื้อยายังคงอยู่หลังจากเลิกใช้ยาปฏิชีวนะแล้ว และปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้อย่างไร
“เราศึกษาเชื้อดื้อยาในระดับgenome และนำเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรม(Genetic Engineering) มาใช้ในการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาและกลไกการดื้อยา ทำให้เข้าใจแหล่งที่มา ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมและการถ่ายทอดพันธุกรรมของเชื้อดื้อยามากขึ้น ซึ่งข้อมูลกลไกการดื้อยาสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาโมเลกุลหรือยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ รวมทั้งสารทดแทนยาปฏิชีวนะได้อีกด้วย”
ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ เล่าถึงผลการวิจัยจากการวิเคราะห์จีโนมิกของเชื้อดื้อยาที่เก็บจากคน ปศุสัตว์ และอาหารจากสัตว์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนด้วยเทคนิค nanopore sequencing ว่า “ลักษณะทางจีโนมของเชื้อในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมีความหลากหลาย โดยมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน แสดงถึงการถ่ายทอดหมุนเวียนของยีนดื้อยาของเชื้อดื้อยาในภูมิภาคนี้”
ไม่เพียงแค่ยาปฏิชีวนะ ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ เผยว่ายังมีสารอื่นๆ ที่ทำให้เชื้อพัฒนาการดื้อยาและถ่ายทอดยีนหรือตัวระบุการดื้อยาได้ ส่งผลให้มีการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในฟาร์มและโรงพยาบาล และโลหะหนักที่ผสมในอาหารสัตว์
“จากข้อมูลเบื้องต้นเราตรวจพบยีนดื้อยาในฝุ่นที่เก็บจากฟาร์มปศุสัตว์ รวมทั้งฝุ่นจากเครื่องปรับอากาศในห้องวิจัยอีกด้วย เรากำลังขยายการวิจัยไปยังคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ เชื้อดื้อยาไม่ได้พบในสัตว์และอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น ดังนั้นการใช้มาตรการยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์เพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งหมดได้”
สู่แผนยุทธศาสตร์ชาติแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา
ผลงานวิจัยของ ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ ได้ถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาปฏิชีวนะประเทศไทย และใช้แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในเอเชียและประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ โดยร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติและหน่วยงานระดับนานาชาติ มีทั้งเรื่องการประเมินระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาแห่งชาติและระบบห้องปฏิบัติการเชื้อดื้อยา การกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ การทบทวนตำรับยาสำหรับสัตว์ การจัดทำแผนการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาการเฝ้าระวังการดื้อยาปฏิชีวนะภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เป็นต้น
นอกจากนี้ งานวิจัยก็ยังถูกถ่ายทอดเพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจด้านเชื้อดื้อยาและการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมแก่เยาวชน ประชาชนทั่วไป เจ้าของสัตว์เลี้ยง ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์และบุคคลกรภาครัฐและเอกชน
“การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในปศุสัตว์ให้มีประสิทธิภาพต้องทำหลายอย่างและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ การตรวจติดตามและเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล การส่งเสริมระบบป้องกันทางชีวภาพในฟาร์ม (farm biosecurity) การลดการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้กับสัตว์ การใช้สารทดแทนยาปฏิชีวนะ เป็นต้น”
“เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องทั้งสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงควรบูรณาการภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health Concept) ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน” ศ.สพ.ญ.ดร.รุ่งทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย