องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสหภาพยุโรป ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย (Kenan Foundation Asia) ร่วมจัดงานเสวนา “Inclusive Leadership means Better Business”เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ
งานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและความเป็นผู้นำของคนทุกเพศ รวมทั้งเรื่องการรายงานด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนทุกเพศและการพัฒนานโยบายองค์กรให้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ อันเป็นแนวทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุนและธุรกิจไทย
ในช่วงกล่าวเปิดงาน จูเซปเป บูซีนี รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึง พันธกิจของสหภาพยุโรป (EU) ในการส่งเสริมด้านความเท่าเทียมทางเพศ
“สหภาพยุโรปมุ่งมั่นส่งเสริมให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นได้จริง ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในตลาดแรงงาน ค่าตอบแทน และความรับผิดชอบในการดูแลครอบครัว ตลอดจนบทบาทในการเป็นผู้นำองค์กรและสังคมในด้านต่างๆ เป้าหมายของเราคือ การสร้างสหภาพ และโลกที่คนทุกเพศได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการเจริญก้าวหน้า และเป็นผู้นำ”
ในช่วงนี้ ซาร่าห์ นิบบซ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กล่าวถึงองค์กรภาคธุรกิจที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมด้านความเท่าเทียมทางเพศ “แนวทางการปฏิบัติที่ดีขององค์กรที่ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนหลักการสร้างเสริมศักยภาพสตรีนั้นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้นำทางธุรกิจยุคใหม่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีในระยะยาวในประเด็นดังกล่าวได้”
นอกจากนี้ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ เพื่อส่งเสริมบทบาทของผู้นำสตรีในองค์กรภาคธุรกิจ และการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ ซึ่งช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุน และเศรษฐกิจไทย
“การส่งเสริมความหลากหลายในคณะกรรมการบริหารที่มีผู้หญิงมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างพลังของทีมและการสร้างสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่เหมาะสมนั้นสำคัญต่อการสร้างโอกาสเพื่อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วม กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าทำได้ ไม่ต้องรอโอกาส แต่ต้องแสดงพลังและศักยภาพที่ตนเองมี ในขณะเดียวกัน ผู้นำองค์กรควรสร้างพื้นที่ เพิ่มโอกาสและเสริมศักยภาพเพื่อให้ผู้นำหญิงพัฒนาและใช้ศักยภาพของตนเอง เพื่อก้าวเข้าสู่บทบาทคณะกรรมการขององค์กรต่อไป” กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
“สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ดำเนินนโยบายในด้านการเสริมสร้างบทบาทสตรี (women’s empowerment) รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำในภาคตลาดทุน ตามแนวแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือแผน NAP และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าความเท่าเทียมกันทางเพศจะส่งผลดีต่อธุรกิจและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ การมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างการมีส่วนร่วม สร้างการยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholder) ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน” รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าว
พร้อมกันนี้ ผู้บริหารขององค์กรที่ได้รับรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards ในสาขาต่างๆ 4 ท่าน ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนตัวอย่างแนวทางปฏิบัติการส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ
● พลตรีพัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาผู้นำองค์กรที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ (Leadership Commitment)
● ปรีดา บุญศิลป์ กรรมการผู้จัดการ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านกิจกรรมชุมชนและอุตสาหกรรม (Community Engagement & Partnerships)
● โชคชัย อัศวรังสฤษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สาขาสถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Inclusive Workplace)
● ปิยนนท์ วัฒนะจรรยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เจ้าของรางวัลชนะเลิศ สาขาความโปร่งใสและการรายงาน (Transparency and Reporting)
การเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกาศเจตนารมณ์และนำเสนอแนวทางที่แต่ละองค์กรปฏิบัติในการลดช่องว่างระหว่างเพศและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรอื่นๆ ในภาคธุรกิจไทยได้นำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งธุรกิจที่ปฏิบัติตามแนวทางส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศจะเติบโตมั่นคงในระยะยาว ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ในช่วงท้ายของงาน คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ได้ให้เกียรติกล่าวปิดงานพร้อมตอกย้ำความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร ที่จะเป็นกุญแจสำคัญสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและสังคมที่เท่าเทียม