ฉายา “ไข่มุกอันดามัน” ได้มาจากความสดใสสวยงามของท้องทะเลที่ล้อมรอบเกาะภูเก็ตแห่งนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต คือความงดงามของสถาปัตยกรรม และวิถีชีวิต ที่สืบทอดกันมานับร้อยปี ซึ่งยาวนานก่อนที่หาดทราย ชายทะเล จะโด่งดังระดับโลก
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. จึงนำเสนอความงามอีกมุมหนึ่งที่อยู่ในเมืองภูเก็ต “เมืองเก่าภูเก็ต” กับสถาปัตยกรรม “ชิโนยูโรเปี้ยน” หลายคนอาจไม่ชินหูกับคำนี้ เพราะเคยได้ยินกันแต่คำว่า “ชิโนโปรตุกีส” จึงได้รับคำอธิบายจากนักสื่อความหมายประจำท้องถิ่นที่บอกว่า แท้จริงแล้วสถาปัตยกรรมในรูปแบบอาคารบ้านเรือนต่างๆ นี้ ไม่ได้บ่งชี้ไปเฉพาะว่าเป็นของชาติโปรตุเกส แต่บ่งชี้ได้ว่า เป็นสถาปัตยกรรมของชาวตะวันตก ซึ่งมีหลายประเทศ จึงควรใช้คำว่าชิโนยูโรเปี้ยน ซึ่งจะครอบคลุมมากกว่า
การเดินชมความงามของอาคารบ้านเรือน หากต้องการดื่มด่ำกับกลิ่นอายของเมืองเก่าภูเก็ตแบบทุกซอกมุม จะต้องเลือกเที่ยวแบบ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” นั่นหมายความว่า ชุมชนเป็นคนพาเที่ยว พาชม พากิน และสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งการรวมตัวนำเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ ต้องเกิดจากความต้องการของคนในชุมชนแห่งนี้ ประกอบกับ “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” หรือ อพท. ได้นำเกณฑ์และองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand เข้ามาชี้แนะให้ความรู้การบริการที่มีมาตรฐาน จึงได้เกิดการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชน พัฒนาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อนำเสนอให้นักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตด้วยความภาคภูมิใจ
๐ สัมผัสวัฒนธรรมอาหารถิ่น
เริ่มกันที่ร้าน BANN 92 café ที่ด้านหน้าเป็นร้านกาแฟเก๋ไก๋ แต่พอเดินทะลุไปด้านหลังบ้าน จึงได้สัมผัสถึงกลิ่นอายของคนเมืองภูเก็ต ที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของเชฟชุมชน ของชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต กิจกรรมแรกที่เริ่มคือการได้เรียนรู้และทดลองทำ “ผัดหมี่สะปำ” หรือผัดหมี่ฮกเกี้ยน อาหารของชาวจีนฮกเกี๊ยน งานนี้ได้ความรู้ทั้งเรื่องเครื่องปรุง วิธีการผัดหมี่ แล้วยังได้รู้อีกว่า ชาวภูเก็ต โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี๊ยน ให้ความสำคัญกับเตาไฟ และมีเทพเจ้าเตาไฟ ที่เมื่อถึงเทศกาลก็ต้องกราบไหว้ให้ความเคารพ โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยน ภูเก็ต - ปีนัง - ฝูเจี้ยน ซึ่งมีความเชื่อว่าเทพเจ้าเตาไฟเป็นเทพที่มีหน้าที่คุ้มครองดูแลความเป็นอยู่และจดบันทึกการกระทำของคนในบ้าน เพื่อกลับไปรายงานหยกอ๋องซ่งเต่ เทพเจ้าสูงสุด ในวันแรกของเทศกาลตรุษจีน
ด้วยเมืองเก่าภูเก็ต เป็นพื้นที่อาศัยของ 3 เชื้อชาติ คือ ชาวจีน ชาวมลายู และชาวไทย เป็นพหุวัฒนธรรม คือ จีน อิสลาม และพุทธ ทำให้คนที่นี่มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ และเกิดเป็นวัฒนธรรม "เพอรานากัน" สะท้อนวิถีชีวิต ผ่านเรื่องราวของอาหารการกินของชุมชน มื้อแรกที่มาเยือนเมืองเก่าภูเก็ต จึงได้มีโอกาสลิ้มลองหมี่สปำ (ฝีมือตัวเอง) แล้ว ยังได้ทานอาหารพื้นถิ่น ที่ชุมชนจัดไว้ต้อนรับ บอกได้คำเดียวว่า ทุกเมนูสุดอร่อย ทั้งมัสหมั่นไก่ ที่เนื้อไก่ผ่านการเคี่ยวไฟจนละลายในปาก ทานแกล้มกับสลัดผัก ที่มีรสเปรี้ยวอมหวานจากผลไม้ มีต้มส้มปลาที่ทุกคำจะได้กลิ่นขิงขึ้นจมูก ต่อด้วยปลาเจี๋ยนตะไคร้ที่ได้รสชาติความหวานจากความสดของเนื้อปลาและกลิ่นคะไคร้อ่อนๆ สูตรนี้เป็นของชาวบาบ๋า ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองภูเก็ตขนานแท้ อิ่มคาวแล้วยังต่อด้วยขนมหวานพื้นเมืองอย่างโอ๊ะเอ๋วหวานเย็นชื่นใจ
“หากมาเที่ยวชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต การรับประทานอาหารกลางวันที่นี้ เขาจะเสิร์ฟใส่ปิ่นโต 1 คน 1 ปิ่นโต ปลอดภัยไร้กังวลดีมากๆ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้”
๐ โรงตีเหล็กแห่งสุดท้าย
อิ่มท้องแล้ว นักสื่อความหมายของชุมชนย่านเมืองเก่า ได้พาเราเดินชมความงามของอาคารบ้านเรือน ลัดเลาะเข้าซอกซอยต่างๆ อย่างเชี่ยวชาญ ระหว่างทางได้เล่าถึงความเจริญในอดีตของย่านการค้าแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งย่านบันเทิง ย่านค้าขาย โรงเตี๊ยม ต่างๆ เดินเรื่อยไปจนถึงร้าน ‘ไต่สุ่นอั้น’ เป็นโรงตีเหล็กด้วยมือเหลือแห่งสุดท้ายบนถนนดีบุก ในเมืองภูเก็ต เพราะอดีตภูเก็ตคือจังหวัดที่มีทรัพยากรแร่ดีบุกจำนวนมาก และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย เมื่อเกือบ 50 ปี ก่อน แต่ปัจจุบัน โรงตีเหล็กแห่งนี้ ซึ่งมี โกโป้-มนูญ หล่อโลหะการ เป็นผู้สานต่องานจากรุ่นพ่อ-แม่ โดยเปิดโรงตีเหล็กแห่งนี้เพราะทำด้วยใจรัก ซึ่งงานที่รับทำส่วนใหญ่เป็นการตีเหล็กเพื่อทำเป็นจอบ เสียม และเครื่องมือการเกษตรเล็กๆ น้อยๆ สำหรับชาวไร่ชาวสวน มาร้านนี้นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิธีการและทดลองตีเหล็กร้อนๆ แดงๆ ที่เผาออกมาจากเตาถ่านซึ่งตัวเตาเผาเหล็กนี้มีขนาดสูงใหญ่จรดเพดาน พอเหล็กร้อนแดงได้ที่ ก็จะนำขึ้นมาตีให้เป็นรูปทรง ตามต้องการ ในการตีจะต้องตีอย่างรวดเร็ว เพราะเหล็กกำลังอ่อนตัว จากนั้นจึงนำไปจุ่มในน้ำ เพื่อให้คงรูป
๐ ทดลองทำและชิมขนมมงคล “เต่าแดง”
สนุกกับกิจกรรมตีเหล็กแล้ว ก็เดินลักเลาะมาอีกเล็กน้อย ก็ถึงจุดที่ได้เข้ามาเรียนรู้ทำขนมมงคล “เต่าแดง” หรือ “อังกู๊โก้ย” ซึ่งเป็นขนมมงคลในประเพณีพ้อต่อ เป็นขนมของชาวจีนฮกเกี้ยนที่ใช้ในประเพณีสารทจีนไว้เซ่นไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเหนียว ใส่ไส้ถั่ว รสชาติทั้งแป้งและไส้คล้ายๆ กับขนมเทียน แต่ตัวแป้ง จะใส่สีแดงผสมลงไป พอปั้นแป้งห่อไส้แล้วจะนำไปกดในพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นรูปเต่า เสร็จแล้วจึงนำใส่ภาชนะ นึ่งในน้ำเดือดราว 15 นาที ปัจจุบัน เป็นขนมที่ชาวภูเก็ต จะนิยมทานในตอนเช้าหรือบ่าย โดยทานพร้อมกับชาหรือกาแฟ รสชาติเข้ากันได้ดีมาก
๐ ชมพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าอดีตที่รุ่งเรือง
เสร็จจากทำและชิมขนมมงคลแล้ว ก็มุ่งหน้าไปชมพิพิธภัณฑ์บ้านเก่า เมืองภูเก็ต หรือ Woo Gallery and Boutique Hotel ซึ่ง Woo มาจากนามสกุลของครอบครัวนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งของ ร้านหม่อเส้งแอนด์โก MOH SENG & Co. จัดจำหน่ายนาฬิกาประเภทต่างๆ รวมทั้งซ่อมนาฬิกาให้ด้วย และยังนำเข้าสินค้าจากยุโรป และจากปีนัง มาจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของประดับ ตกแต่งบ้าน
ปัจจุบันเจ้าของบ้านซึ่งเป็นทายาท ได้เห็นคุณค่า จึงดัดแปลงจากบ้านโบราณรูปทรงตามแบบสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปี้ยน ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว ปรับปรุงสถานที่ และนำของเก่าที่สะสมไว้ มาจัดแสดง บอกเล่าเรื่องราวในอดีต โดยสถานที่แห่งนี้ ผู้เข้าชมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 100 บาท โดยจะมีผู้นำชมและอธิบายที่ละจุด เป็นบ้าน 2 ชั้น กว้าง 7 เมตร แต่มีความยาวถึง 106 เมตร ยาวกว่าสนามฟุตบอล ด้านหนึ่งเป็นทางเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ติดกับถนนถลาง ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นทางเข้าของโรงแรม Woo Gallery and Boutique Hotel ติดกับถนนพังงา ซึ่งเจ้าของได้แบ่งพื้นที่ทำห้องพักไว้จำนวน 12 ห้อง
ด้วยตัวบ้านที่มีความยาวมาก เมื่อเทียบกับอาคารทั่วไปจะเท่ากับอาคาร 4 หลัง เชื่อมต่อกัน ระหว่างทางจึงมีช่องโปร่งแสง เปิดเป็นสวนกลางบ้านเป็นจุดๆ นอกจากให้ความสว่าง โปร่งโล่งแล้ว ยังเป็นจุดหยุดพัก เวลาเดินชมพิพิธภัณฑ์ ได้เป็นอย่างดี และแม้ตัวบ้านจะยาวมาก แต่ก็เดินไม่เบื่อเลยจริงๆ เพราะแต่ละจุด แต่ละมุมของบ้าน ได้จำลองวิถีชีวิตบอกเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านการตกแต่งในบ้านที่ยังคงเดิม ทั้งกระเบื้องจากอิตาลี เฟอร์นิเจอร์จากเมืองจีน และโต๊ะอาหารจากเมืองปีนัง แสดงให้เห็นถึงการค้าขายที่รุ่งเรืองของคนสมัยก่อน และการอยู่รวมกันของครอบครัวคนจีน ที่จะแต่งสะใภ้เข้าบ้าน เพื่อมาช่วยกันทำมาหากินและช่วยดูแลเก็บกวาดบ้าน
เพลิดเพลินกับการชื่นชมพิพิธภัณฑ์ ก็มาแวะจิบน้ำชาและขนมอร่อยๆ พร้อมฟังการดีดกู่เจิงจากสาวน้อย แอนนี่ นางฟ้ากู่เจิง ซึ่งแม้จะพิการทางสายตา แต่น้องสามารถเล่นกู่เจิง ได้อย่างไพเราะ แถมผู้ฟังต้องการฟังเพลงอะไร น้องแอนนี่ก็จะดีดกู่เจิงให้เราร้องเพลงคลอตามได้ แค่นี้ก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง สนุกและได้ความรู้มากมาย ก็มาออกเดินเที่ยวชม ชอป สินค้า เสื้อผ้าของใช้ของคนพื้นเมือง แล้วกลับที่พัก พร้อมลุยเที่ยวทะเลภูเก็ตในวันต่อไปได้อย่างสบาย
ใครที่เคยเดินชมเมืองเก่าภูเก็ตแล้ว แต่ยังไม่ดื่มด่ำถึงวิถีชีวิตแบบคนเมืองเก่าภูเก็ตจริงๆ แนะนำการท่องเที่ยวโดยชุมชนของย่านเมืองเก่าภูเก็ต รับรองไม่ผิดหวัง แต่ขอบอกว่า ควรโทรนัดกับชุมชนก่อน โดยติดต่อ คุณสมยศ ปาทาน (คาร์ล) ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่เบอร์โทรศัพท์ 084-305-3960 เพื่อจะได้รับการต้อนรับแบบจัดเต็ม เพราะแต่ละคนที่มาสาธิตกิจกรรมต่างๆ ทุกคนมีภารกิจหน้าที่การงาน บ้างเป็นถึงเจ้าของร้านทอง เป็นเจ้าของร้านอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่มาร่วมกันทำกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามที่ อพท. แนะนำได้เป็นผลสำเร็จในวันนี้ ก็เพราะต้องการแบ่งปันความภูมิใจในวิถีชีวิตของคนเมืองเก่าภูเก็ต ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัส แล้วจะหลงรัก “ภูเก็ต” มากกว่าเดิม