นักวิชาการคาดการณ์อาจเกิดภาวะ Stagflation ของเศรษฐกิจไทยในหน้าแล้งปีนี้ เตือนราคาอาหารพุ่งสูง เดือดร้อนประชาชนผู้บริโภคโดยเฉพาะคนจนเมือง ผู้ผลิตไม่ได้ประโยชน์เนื่องจากเกิด Supply Shocks ชี้ Plant-based Food อาหารจากพืชจะไม่ใช่แค่ตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market แต่เป็นแนวโน้มใหญ่ หรือ Mega Trend ของอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต จะเข้ามา Disrupt และปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมปศุสัตว์และธุรกิจอาหารทั้งระบบอย่างแน่นอน
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า สัญญาณของการเกิดภาวะ Stagflation เริ่มชัดเจนขึ้น มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญภาวะ Stagflation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตต่ำและเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาก สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญอยู่เวลานี้คือ รายได้ชะลอตัว หนี้สินท่วม ค่าครองชีพสูงขึ้น แถมยังว่างงานอีกหรือทำงานต่ำระดับ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการนโยบายเข้มงวดทางการเงินเพิ่มขึ้นหรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเพราะช่องว่างการผลิต (Output Gap) ของเศรษฐกิจไทยยังติดลบค่อนข้างมาก มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่จำนวนมาก
การใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายมีความจำเป็นต่อการประคับประคองการฟื้นตัวของการจ้างงานและการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปัญหาทางด้านอุปทานเป็นหลัก คือ ราคาพลังงานสูงขึ้น บาทอ่อนค่า และราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นจากภัยแล้งในพื้นที่เกษตร ขณะที่ก่อนหน้านี้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม ได้รับความเสียหาย สะท้อนความไม่สามารถในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและไม่มีลงทุนระบบชลประทานอย่างจริงจัง ล่าสุด เกิดโรคระบาดในหมูทำให้ซ้ำเติมสถานการณ์ ทำให้เนื้อหมูในตลาดลดลง ราคาแพงขึ้น แต่สิ่งนี้อาจเป็นโอกาสของสินค้าประเภท เนื้อที่ทำมาจากพืช (Plant-based Meat) หรือ อาหารที่ทำมาจากพืช (Plant-based Food) และเนื้อสัตว์ที่สามารถทดแทนกันได้
สำหรับเนื้อหรืออาหารที่ทำมาจากพืชนี้กำลังมาแรง และ น่าจะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ในอนาคต เป็นอาหารส่งเสริมสุขภาพ ลดการฆ่าสัตว์และสิ่งมีชีวิตชีวิตอื่นๆ ทำให้ระดับคุณธรรมสูงขึ้น ตอนนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคอาหารมากมาย ก่อนหน้ามีเทรนด์ของคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ ทานมังสวิรัติ หรือเป็นกลุ่ม Vegan ที่ต่อต้านการละเมิดชีวิตสัตว์ทุกประเภท ตนเชื่อว่า Plant-based Food จะไม่ใช่แค่ ตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market เป็น แนวโน้มใหญ่ Mega Trend ของอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต จะเข้ามา Disrupt และ ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเลี้ยงปศุสัตว์และธุรกิจอาหารทั้งระบบอย่างแน่นอน แม้ว่าขณะนี้ เนื้อหรืออาหารที่ทำมาจากพืชจะมีราคาแพงอยู่ เมื่อผู้ผลิตปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภค ราคาจะค่อยๆลดลงในอนาคต
ราคาสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนปรับตัวสูงขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบ การชะงักงันระบบจัดส่งและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นยังดำรงอยู่ ปัญหาบางส่วนเกิดจากการหยุดดำเนินการผลิตของโรงงาน เกิดการการชงักงันของระบบจัดส่งโลจีสติกส์ จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ภาวะ Stagflation ของเศรษฐกิจไทยอาจเกิดขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นหลังเดือนมีนาคม ไทยอาจเผชิญภัยแล้งรุนแรงทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย และ ในบางพื้นที่ไม่มีการทำเกษตรเนื่องจากขาดน้ำ ราคาอาหารซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการคำนวณเงินเฟ้อจะพุ่งสูง หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาสสอง ไทยจะเกิด Stagflation แน่นอน ฉะนั้นต้องคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดโอมิครอนให้ได้ เพื่อไม่ให้มีการ Lockdown และ สามารถกลับมาเปิดประเทศได้เต็มที่ ภาคการท่องเที่ยวจะได้กระเตื้องขึ้น
ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณของ Excess Demand ใดๆ ในเศรษฐกิจภาคการผลิต อุปสงค์มวลรวมยังกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการทางการคลังกระตุ้นการบริโภคการใช้จ่าย ไม่ได้เกิดจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของภาคครัวเรือนภาคธุรกิจมากนัก ภาวะฟองสบู่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโดยตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ขอเตือนให้ระมัดระวังฟองสบู่และส่งผลลบต่อภาคการลงทุนและภาคการเงินได้ ภาวะ Excess Supply ยังคงมีอยู่ในสินค้าส่วนใหญ่ ยกเว้นสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรบางตัวนั้นเกิดสถานการณ์ตรงกันข้าม คือ เกิด Supply Shocks เนื่องจาก เกิดโรคระบาดหมูทำให้ เนื้อหมูราคาแพง พืชผักผลไม้แพงเนื่องจากหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ที่ผ่านมารัฐบาลก็ลงทุนปรับปรุงระบบชลประทานน้อยมาก ราคาอาหารแพงแบบนี้จึงไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ผลิตแต่อย่างใด
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การใช้มาตรการสินค้าธงฟ้าราคาประหยัด หรือ เอาเงินงบประมาณไปซื้อเนื้อหมูหรือพืชผลเกษตรแล้วเอาขายต่อให้ประชาชน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาหน้า ช่วยบรรเทาปัญหาได้เล็กน้อยมากๆ และ ยังจะเกิดช่องทางของการทุจริตรั่วไหลจากการใช้งบประมาณ หรือ เอื้อประโยชน์ให้คนในเครือข่ายของตัวเอง จึงไม่ใช่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเป็นช่องทางในการหาประโยชน์จากนโยบายได้ วิธีการแก้ปัญหา คือ ควบคุมโรคระบาดให้ได้ และ เพิ่มปริมาณเนื้อหมูเข้าสู่ตลาด หรือ ส่งเสริมสินค้าอื่นๆ ที่ใช้ทดแทนเนื้อหมูได้ เช่น Plant-based Food ขณะที่ Plant-based Food Plant สามารถสร้างโอกาสมากมายทั้งทางธุรกิจ และเรื่องของสุขภาพ ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของโลกอีกด้วย นอกจากจะทำให้สุขภาพและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นแล้ว ในแง่ธุรกิจยังสามารถขายผู้ป่วยได้ หรือคนที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพได้ด้วย เพิ่มสมรรถนะร่างกาย มีโปรตีนที่สร้างกล้ามเนื้อได้ดีกว่า