xs
xsm
sm
md
lg

จับได้แล้ว! เสือโคร่ง ออกนอกพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง หลังเวียนมาหาเหยื่อจุดเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เสือโคร่งห้วยขาแข้ง เพศผู้ อายุราว 10 ปี

วางยาสลบและนำมาตรวจสุขภาพที่หน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เมื่อเช้าวันนี้ (12 มกราคม 2565) เวลา 06.45 น. เจ้าหน้าที่ติดตามเสือโคร่งที่ออกนอกพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง จับตัวได้แล้ว หลังวางแผนติดตามและวางกรงดักจับ พร้อมติดปลอกคอเพื่อติดตามการดำรงชีพอย่างปลอดภัย

วันนี้ (12 มกราคม 2565) นายมีเดช เจริญกิจวนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยว่า กรณีเสือโคร่งออกนอกป่าห้วยขาแข้งหลังตรวจสอบข้อมูลและร่องรอยของเสือโคร่งตัวดังกล่าว จากนั้นในช่วงเย็นของวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้ดำเนินการประชุมร่วมปฏิบัติการติดตามหาร่องรอยเสือโคร่ง โดยการปรับแนวทางปฏิบัติงาน การเตรียมการควบคุมพื้นที่ปิดล้อมประมาณ 80 ไร่ มีการซ่อมแซมรั้วเสริมประสิทธิภาพในการควบคุมพื้นที่ปิดล้อม การวางกับดัก การประสานขอกำลัง อปพร.เพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่บ้านบึงเจริญ และแจ้งให้ผู้นำชุมชนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเก็บ ดูแลสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย


ต่อมาเวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ออกตรวจสอบกับดักที่วางไว้เสือโคร่งยังไม่ติดกับดักแต่อย่างใด จนกระทั่ง เวลา 03.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังได้พบเห็นเสือโคร่งพยายามเดินข้ามถนนจึงส่งเสียงและส่องไฟรบกวน แต่เสือโคร่งยังคงเดินข้ามถนนมุ่งหน้าไปยังสระน้ำจุดที่เคยนำซากสุนัขไปกิน เจ้าหน้าที่จึงปรับแผนมาปิดล้อมบริเวณดังกล่าว โดยติดตั้งกับดักในบริเวณเส้นทางที่คาดว่าเสือโคร่งจะเดินผ่านเส้นทางนี้

ในวันนี้เวลาประมาณ 06.00 น. คณะทำงานได้ร่วมกันตรวจสอบบริเวณที่ติดกับดักเอาไว้ แต่เสือโคร่งยังไม่ติดกับดักแต่อย่างใด กระทั่งเวลาประมาณ 06.45 น. เสือโคร่งเดินย้อนเส้นทางมาติดกับดัก จากนั้นนายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้ทำการวางยาสลบและนำมาตรวจสุขภาพที่หน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

จากการตรวจสอบสุขภาพเสือโคร่ง เป็นเสือโคร่งเพศผู้อายุประมาณ 10 ปี ซึ่งเป็นเสือที่มีอายุมาก สุขภาพจึงเป็นไปตามอายุและพบรอยแผลที่ขา จากการประเมินสุขภาพแล้วไม่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำจึงติดปลอกคอวิทยุติดตามตัวเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของเสือโคร่ง ดำเนินการเสร็จประมาณ 09.10 น.


ทั้งนี้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้ทำการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งไปปล่อยสู่ป่าธรรมชาติที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่ายางแดง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ห่างจากแนวเขตประมาณ 60 กิโลเมตร ซึ่งการดำเนินการเคลื่อนย้ายได้ดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการ คำนึงถึงสุขภาพของเสือโคร่งเป็นสำคัญ หากปล่อยเสือโคร่งแล้วเจ้าหน้าที่จะได้ติดตามสัญญาณวิทยุจากปลอกคอว่า สามารถดำรงชีพได้อย่างปกติหรือไม่ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น