อาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เตรียมผู้สูงวัยไทยในอนาคตให้พร้อมเป็นพลเมืองแอคทีฟ พึ่งพาตนเอง รักษาสุขภาพให้แข็งแรง มั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือมีส่วนร่วมทางสังคม รัฐและเอกชนต้องพร้อมหนุนทุกมิติ
องค์การสหประชาชาติระบุประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยสมบูรณ์นับตั้งแต่ปี 2564 ตามเกณฑ์ประชากรวัยเกิน 60 ปี มีกว่า 20% ของประชากรในประเทศ ขณะที่อัตราการเกิดต่ำเพียง 6 แสนคนต่อปี สาเหตุมาจากครอบครัวสมัยใหม่ไม่ต้องการมีบุตรและการแต่งงานช้า
จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ชีวิตของผู้สูงวัยไทยในวันนี้และวันหน้าจะเป็นอย่างไร คนไทยและสังคมไทยเตรียมความพร้อมไว้แค่ไหน อะไรคือสิ่งที่ทุกฝ่ายควรเตรียมความคิดและลงมือทำ รองศาสตราจารย์ ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตในมุม “เศรษฐศาสตร์” เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน เอกชน และรัฐ เตรียมการรับมือผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตในบั้นปลายของทุกคนที่กำลังจะเป็นผู้สูงวัยในวันหน้า
เศรษฐศาสตร์และความสุขผู้สูงวัย
ความสุขในมิติเศรษฐศาสตร์ยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่เริ่มพูดถึงกันในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา โดยนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปสนใจแนวคิดเรื่อง “อรรถประโยชน์” มากกว่า “ความสุข” เพราะมองว่าความสุขคำนวณไม่ได้ และผู้บริโภคก็อาจไม่ได้รับความสุขจากสินค้าและบริการที่ซื้อหากันได้ด้วยเงินตรา แต่สำหรับนักเศรษฐศาสตร์จากรั้วจามจุรี รศ.ดร.นพพล กลับมีคำอธิบายที่ต่างออกไป
“หากมองไกลออกไปกว่ามิติทางเศรษฐศาสตร์ ก็จะเจออีกแนวคิดซึ่งใกล้เคียงกันคือแนวคิดเรื่องคุณภาพชีวิต โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) มองว่าคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง การมีอิสรภาพ คือได้ทำในสิ่งที่อยากทำ สอง ความสามารถในการสัมผัสหรือรับรู้สิ่งต่างๆ ทั้งการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น เป็นต้น สาม ทัศนคติต่อความตาย ผู้สูงอายุกลัวตายหรือไม่ เห็นกระบวนการตายเป็นความทุกข์ทรมานมากน้อยอย่างไร ปล่อยวางได้ไหม สี่ เมื่อมองกลับไปในอดีต ท่านรู้สึกมีความสุขหรือไม่ และหากมองอนาคต ยังมีความหวังหรือมีความสุขอยู่หรือไม่ ห้า ความรู้สึกใกล้ชิด ท่านยังรู้สึกใกล้ชิดหรือยังได้รับความรักอยู่หรือไม่ และสุดท้าย การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ท่านยังเข้าร่วมและรู้สึกตัวเองเชื่อมโยงกับชุมชนและสังคมอยู่หรือไม่ คุณภาพชีวิตเหล่านี้จะชี้ได้ว่าท่านมีความสุขหรือไม่” รศ.ดร.นพพล กล่าว
“อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตทั้ง 6 ด้านข้างต้นนั้นเป็นแนวคิดที่เป็นนามธรรมและกว้างมาก สามารถย่อยลงได้อีก ให้เป็นปัจจัยแห่งความสุขที่จับต้องได้ 3 ประการ คือ หนึ่ง รายได้ที่มั่นคงเพียงพอ สอง สุขภาพที่ดีเพียงพอ และสาม การมีส่วนร่วมกับสังคมอย่างดีเพียงพอ หากผู้สูงอายุมีสามข้อนี้ก็อาจเรียกได้ว่าท่านมีความสุขหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี” รศ.ดร.นพพล กล่าวเสริม
แนวโน้มไลฟ์สไตล์ผู้สูงวัย เปรียบเทียบการศึกษาบริบทสังคมไทยและจีน
จากงานวิจัยเรื่อง The Impact of Living Arrangements of Older People on Intergenerational Transfers from their Adult Children in China โดย รศ.ดร.นพพล ร่วมกับ Qingyuan Xue ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Singapore Economic Review ได้สรุปผลรูปแบบความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในประเทศจีนเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การอยู่อาศัยกับบุตรหลานโดยตรง 2) การอยู่อาศัยตามลำพัง หรืออยู่แบบคู่สามีภรรยา แต่อยู่ไม่ไกลจากบุตรหลานมากนัก เช่น อยู่ในเมืองเดียวกัน และ 3) การอยู่อาศัยตามลำพัง หรืออยู่แบบคู่สามีภรรยา แต่อยู่ไกลจากบุตรหลาน ทั้ง 3 รูปแบบมีลักษณะเป็นสากล พบได้ทั่วโลก โดยพบว่ารูปแบบความเป็นอยู่นั้นมีความสัมพันธ์กับเงินที่บุตรหลานส่งเสียให้ผู้สูงอายุ และการดูแลที่ได้รับจากบุตรหลาน
“หากอยู่อาศัยกับบุตรหลานโดยตรง ผู้สูงอายุมักจะไม่ได้รับเงินจากบุตรหลานมากนัก แต่จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดแทน ตรงข้ามกับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังที่จะได้รับเงินจากบุตรหลาน แต่ขาดการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะบุตรหลานอยู่ไกลจากพ่อแม่ การถ่ายโอนเงินและเวลาในครอบครัวสะท้อนถึงค่านิยมเรื่องของความกตัญญู” รศ.ดร.นพพล เผย
“แม้ว่าผมจะไม่ได้ทำการศึกษาในประเทศไทย แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ ก็พอจะบอกได้ว่าผู้สูงอายุไทยพึ่งพาบุตรหลานเยอะมาก จากข้อมูลระดับประเทศเมื่อปี 2017 พบว่าผู้สูงอายุประมาณ 86% ยังคงพึ่งพาบุตรหลานในด้านการเงิน และ 40% มองว่าบุตรหลานคือแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุด นั่นแปลว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยยังคงมองบุตรหลานเป็นที่พึ่งหลักทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เราพบอีกอย่างหนึ่งจากการศึกษาในจีนก็คือ ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่อยากจะอยู่อาศัยตามลำพังมากขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลด้านนี้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะยังไม่เกิดเทรนด์แบบนั้น”
การมีบุตรรับประกันความสุขในบั้นปลายชีวิต?
ผลการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่า การมีบุตรหรือไม่มี ไม่ได้สัมพันธ์กับความสุขในชีวิตผู้สูงวัยแต่อย่างใด เนื่องจากทัศนะเรื่องการมีบุตรยังถือเรื่องความพอใจส่วนบุคคล ตรงข้ามกับประเทศกำลังพัฒนา (ประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง) ที่เผยว่าการมีบุตรเกี่ยวโยงกับระดับความสุขของคนสูงวัย
“ในประเทศไทย เราไม่มีกระบวนการช่วยเหลือผู้สูงอายุในทางอื่นมากนัก การมีลูกจึงเท่ากับการมีหลักประกันของคุณภาพชีวิตในยามสูงวัย ในด้านรายได้ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานแล้วและมีลูกก็ยังมีลูกให้พึ่งพาได้ ในด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุที่มีลูกก็อาจมีสุขภาพดีกว่าคนไม่มี เพราะมีคนคอยดูแล และพาไปโรงพยาบาล และสุดท้าย ในด้านสังคม การมีลูกยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกยังมีส่วนร่วมในสังคม ทำให้รู้จักเพื่อนบ้านที่มีลูกเล่นด้วยกันหรือครอบครัวของเพื่อนลูก การมีลูกจึงเป็นปัจจัยสำคัญของความสุข ผิดกับโลกตะวันตกที่ผู้สูงอายุยังพอมีรายได้ พอดูแลตัวเองได้ หรือไม่ก็ได้รับสวัสดิการรัฐโดยไม่ต้องพึ่งบุตรหลาน การมีหรือไม่มีลูกจึงไม่ใช่เงื่อนไขของความสุขในชีวิต” รศ.ดร.นพพล กล่าว “ในประเทศที่สวัสดิการรัฐยังดีไม่พอ เช่นประเทศไทย ครัวเรือนจึงต้องแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุแทนรัฐ การมีบุตรจึงสำคัญ”
บทบาทหน้าที่ของลูกหลานจึงจำเป็นสำหรับสังคมผู้สูงอายุไทย นอกจากจะเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีของคนรุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว รายได้ของบุตรยังแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองของคนรุ่นพ่อแม่ได้ด้วย ที่สำคัญคือ รายได้เหล่านี้จะช่วยคลายความกังวลใจให้แก่ผู้อาวุโสในครอบครัว และย้ำว่าพวกท่านยังมีตัวตนในบ้าน มีลูกหลานคอยเอาใจใส่ มีชุมชนเล็ก ๆ ในบ้าน โดยมีท่านเป็นผู้อาวุโสในครอบครัวหรือตระกูล ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของสูตรความสุขตามความหมายเชิงเศรษฐศาสตร์
“ผมเชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เทรนด์ในเรื่องของการพึ่งพาบุตรหลานอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ แต่ ณ วันนี้ จากงานวิจัยที่ผ่านมาเราสามารถพูดได้ว่า ผู้สูงอายุในไทยยังคงต้องพึ่งพาบุตรหลานเป็นหลักอยู่ และเป็นปัจจัยสำคัญของความสุข แต่หลังจากวันนี้อีกสิบหรือยี่สิบปี ความคาดหวังที่มีต่อลูกหลานอาจจะน้อยลงไปมาก ผู้สูงอายุอาจจะต้องเริ่มสะสมเรื่องทุนทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองได้มากขึ้น แต่ถ้าเป็นแบบนั้น เราก็จะตั้งคำถามต่อว่าเรามีกลไกที่ดีพอสำหรับให้คนไทยรับมือกับความแก่ชราหรือยัง เพราะหากคุณคิดไว้แล้วว่าจะไม่พึ่งพาลูกหลาน นั่นหมายความว่าคุณต้องมีเงินและต้นทุนทางสังคมมากเพียงพอ และมีกลไกหรือบริการทางสังคมรองรับ” รศ.ดร.นพพล กล่าวเพิ่มเติม
ช่องว่างและการเติบโตของตลาดผู้สูงอายุในประเทศ
ตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเติบโต แต่ก็ยังไม่พอและไม่ทันกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นมาก อายุยืนยาวขึ้น และอัตราการเสียชีวิตช้าลง
“หากตลาดเติบโตไม่ทัน ผู้สูงอายุก็ต้องพึ่งพาลูกหลานเหมือนเดิม อาจจะเกิดภาวะที่สถานบริบาลผู้สูงอายุ เช่น บ้านพักคนชรา แออัดหรือเป็นที่ต้องการมากๆ แต่เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเราสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของตัวเอง อยู่ในชุมชนของตัวเอง และดูแลตัวเองได้ ซึ่งก็หมายความว่าเราต้องทำให้ผู้สูงอายุมีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองให้นานที่สุด ให้แอคทีฟ เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า Active Aging ซึ่งเป็นแนวคิดขององค์การอนามัยโลกเหมือนกัน คือการกระตุ้นให้ผู้สูงวัยออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น ทานอาหารดีๆ กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยชะลอให้ร่างกายและสมองของผู้สูงอายุเสื่อมช้าลง” รศ.ดร.นพพล กล่าว
หากตลาดไม่สามารถเติบโตตามธรรมชาติได้ทัน นั่นหมายความว่าตลาดต้องได้รับการกระตุ้นจากรัฐ เช่น การให้แรงจูงใจทางด้านภาษี ที่มากกว่าปกติสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุ หรือการให้เงินส่งเสริมการผลิตบุคลากรด้านการพยาบาลผู้สูงอายุให้เพียงพอ รวมไปถึงการสร้างกระบวนการเยียวยาให้แก่บุคลากรเหล่านี้ เนื่องจาก งานดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่งานง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้ เป็นต้น
“จริงๆ รัฐบาลก็มีแผนแม่บทรองรับไว้บ้างแล้ว เพียงแต่เรื่องนี้ต้องอาศัยกลไกการทำงานเชิงบูรณาการ ทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และอีกหลายๆ มิติ ซึ่งสำหรับเมืองไทย เมื่อไรก็ตามที่ต้องการการทำงานร่วมกันแบบนี้ ก็มักจะไปได้ค่อนข้างช้า” รศ.ดร.นพพล กล่าวย้ำ
คำตอบคือสวัสดิการรัฐ หรือ เพิ่มแรงจูงใจให้มีบุตร?
การที่คนในสังคมไม่นิยมมีบุตรทำให้คนวัยทำงานลดลง ซึ่งโดยนัยทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงผู้มีกำลังชำระภาษีให้แก่ส่วนกลางย่อมน้อยลง รวมถึงคนที่ทำงาน และช่วยดูแลผู้สูงอายุในอนาคตน้อยลงด้วยเช่นกัน แต่นั่นไม่ควรเป็นเงื่อนไขว่าผู้ดูแลผู้สูงอายุในอนาคตจะหายไป รวมถึงความสุขของผู้สูงอายุด้วย
“สำหรับผู้ที่อยากมีลูก ควรมีลูกเพราะอยากมี ไม่ใช่อยากมีด้วยความคาดหวังให้ลูกมาเลี้ยงดูตนในยามชรา ซึ่งเป็นความคาดหวังเหมือนการลงทุน อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็น Investment Goods การคิดแบบนี้นับว่าเสี่ยงเพราะอาจเป็นการลงทุนที่ล้มเหลวก็ได้ เนื่องจากขาดหลักประกันว่าลูกหลานจะมาเลี้ยงดูในอนาคต ประเด็นจึงกลับไปที่สวัสดิการรัฐ เราจะทำอย่างไรให้ทั้งคนที่มีลูกและไม่มีนั้น มีความสุขใกล้เคียงกันทุกช่วงวัย” รศ.ดร.นพพล ชี้ประเด็นสำคัญก่อนจะเผยเงื่อนไขสำคัญหากจำเป็นต้องชูนโยบายกระตุ้นการมีบุตร
“เพศแม่คือบุคคลสำคัญในนโยบายนี้ จากทัศนะเดิม ถ้าผู้หญิงคิดจะมีลูกสักคนก็ต้องตริตรองเพื่อเลือกระหว่างการมีบุตร แลกกับการถูกตัดขาดจากตลาดแรงงาน เนื่องจากสังคมยังคาดหวังให้ผู้หญิงรับผิดชอบงานบ้านและงานเลี้ยงดูบุตร ดังนั้น หากเราเชื่อว่าการมีบุตรจะช่วยให้พ่อแม่ในวัยเกษียณมีความสุข รัฐไทยก็ต้องปรับทัศนะ เน้นการให้โอกาสทั้งหญิงและชายในตลาดแรงงานอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น เพราะทั้งสองฝ่ายต้องทำงานและช่วยเหลือกันระหว่างการเลี้ยงดูบุตร เพื่อคุณภาพชีวิตในบั้นปลาย” รศ.ดร.นพพล กล่าว
“พึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด” คำแนะนำสำหรับผู้สูงวัยยุค Hyper Aged Society
สำหรับผู้สูงวัยในอนาคตซึ่งหมายถึงประชากรวัยเด็กและวัยทำงานปัจจุบัน รศ.ดร.นพพล แนะว่าควรเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งสุขภาพร่างกายตนเอง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเครือข่ายทางสังคม เพื่อการพึ่งตนเองให้มากที่สุด
“จากงานวิจัยในจีน แม้ว่าจำนวนผู้สูงอายุที่ระบุว่าต้องการอยู่ตามลำพังอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เราไม่มีทางรู้ได้ว่า ถ้าเลือกได้ ผู้สูงอายุอยากจะอยู่ตามลำพังจริงไหม และถ้าต้องอยู่ตามลำพัง จะอยู่ได้ไหม งานวิจัยในยุคหลังหันมาให้ความสนใจกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุตามลำพังมากขึ้น และเน้นไปที่การประดิษฐ์เทคโนโลยีเพื่อช่วยผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง เช่น การเปลี่ยนบ้านให้เป็น smart home การผลิตเทคโนโลยีขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน และการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ผู้สูงอายุสามารถจัดการได้เอง ในปัจจุบัน การทำบ้านในลักษณะนั้นเป็นเรื่องของตลาด อยากอยู่ต้องมีเงิน แต่ถ้าไม่มีเงิน รัฐควรจะช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร ประเด็นเหล่านี้ต้องไขกันต่อ หากเราต้องการให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุดและนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ขณะที่รัฐก็ต้องพิจารณาความต้องการที่ละเอียดอ่อนของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริการด้านสุขภาพ ความต้องการเครือข่ายทางสังคม ระบบบริการด้านกฎระเบียบต่างๆ และความมั่นคงสถานะทางเศรษฐกิจ โดยพัฒนาไปพร้อมกันทุกมิติที่กล่าวมา
“ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองว่าคุณภาพของผู้สูงวัยจะดีขึ้นหากได้ทำงาน รัฐก็ต้องออกกฎหมายอนุญาตให้ว่าจ้างผู้สูงอายุทำงานได้ พร้อมแรงจูงใจด้านการลดหย่อนภาษี คำถามจึงตกอยู่ที่ภาคเอกชนว่าพร้อมเพียงใดที่จะรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน แล้วภาครัฐเองจะช่วยเหลือทุกฝ่ายอย่างไร” รศ.ดร.นพพล กล่าวทิ้งท้าย