xs
xsm
sm
md
lg

โอมิครอน มาเร็ว! ทส. หวั่นปัญหาขยะพลาสติกฟู้ดดิลิเวอรี่ล้นเมือง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมมลพิษ แจงข้อมูลการบริโภคพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมาลดลงเฉลี่ย 20 % แต่มาตอนนี้โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มาเร็ว มาแรง หวั่นผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมถึงระมัดระวังตนเองจากการติดเชื้อ จึงเมินการตระหนักลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว



นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (อคพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โรคระบาด Covid – 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มสูงอย่างมาก เนื่องจากภาครัฐกำหนดมาตรการ Lock Down และการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การไม่อนุญาตหรือจำกัดการรับประทานอาหารในร้านอาหาร การรณรงค์ให้ทานอาหารที่บ้านทำให้ประชาชนหันมาเลือกใช้บริการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Food delivery ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น กล่องโฟม กล่องพลาสติกใส่อาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อน – เย็น ถุงเครื่องปรุง ช้อน ส้อม มีดพลาสติก แก้วพลาสติก หลอด เป็นต้น

ช่วงปีที่ผ่านมา คพ.ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของแพลตฟอร์มผู้ให้บริการส่งอาหาร ได้แก่ LINE MAN , Grab, Food Panda และ Lalamove ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2563 ได้ปรับแพลตฟอร์ม Auto opt - out ไม่ให้มีการแจกผลิตภัณฑ์พลาสติก ร้านอาหารใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้สั่งอาหาร(ผู้บริโภค) สามารถปฏิเสธไม่รับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแบบอัตโนมัติในแอปพลิเคชันการบริการส่งอาหาร ส่งผลให้ประชาชน ผู้บริโภค ร้านอาหาร และผู้ให้บริการส่งอาหารออนไลน์ หันมาให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติกในประเทศมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลการบริโภคพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวลดลงเฉลี่ย 20 % (ถุงพลาสติก, แก้วพลาสติก, หลอดพลาสติก, และกล่องโฟมบรรจุอาหาร ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย, สิงหาคม 64)

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของโควิด 19 การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจึงยังคงเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการเลือกใช้บริการส่งอาหารออนไลน์ก็มีความสะดวกและมีร้านอาหารให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ผู้ให้บริการ Food delivery มีโปรโมชั่นในการลดราคาอาหาร บริการส่งฟรี รวมทั้ง ยังเข้าโครงการคนละครึ่งของรัฐบาล และอีกส่วนหนึ่งผู้ประกอบการร้านค้ายังมีความเคยชินในการแจกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอยู่ ประชาชนในฐานะผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการลดขยะพลาสติกได้ โดยการเลือกไม่รับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการใช้บริการ Food Delivery หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกก็สามารถ คัดแยก ล้างทำความสะอาด เพื่อรวบรวมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือนำไปบริจาคให้โครงการ “เปลี่ยนพลาสติก
เป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน)


“การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะพลาสติก ตั้งแต่ขั้นตอน การจัดการ ณ ต้นทาง (ผู้ผลิต) การจัดการ ณ กลางทาง (ผู้บริโภค ผู้ประกอบการร้านอาหาร) และการจัดการ ณ ปลายทาง (การรีไซเคิล) เพื่อคัดแยกและนำพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์อีกให้มากขึ้น” นายอรรถพล วอนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น