xs
xsm
sm
md
lg

“ผศ.ดร.ต่อภัสร์ ยมนาค” 1 ใน 12 คนจากทั่วโลก! คว้ารางวัลระดับนานาชาติต่อต้านคอร์รัปชัน ปี 2021

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ต่อภัสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการประกาศเกียรติคุณจาก Secretary of State, U.S. State Department สหรัฐอเมริกา ให้ได้รับรางวัล International Anticorruption Champion Award 2021 เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลปีนี้ ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัล 12 คนจากทั่วโลก 

โดย ผศ.ดร.ต่อภัสร์ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลในฐานะนักวิชาการจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ ดีใจที่งานด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ผมและใครอีกหลายคนในประเทศไทยมีบทบาทในเรื่องนี้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันและลดปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยได้” ผศ.ดร.ต่อภัสร์ เผยความรู้สึกที่ได้รับรางวัลครั้งนี้

แรงบันดาลใจสู่การเป็นนักต่อต้านคอร์รัปชัน
ความสนใจในการศึกษาวิจัยเรื่องคอร์รัปชันของ ผศ.ดร.ต่อภัสร์เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่น จากนั้นก็ได้ทำวิจัยเรื่องนี้เรื่อยมา โดยผลงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของอาจารย์ที่ University of Cambridge เป็นการศึกษาวิจัยเรื่องกระบวนการการต่อต้านคอรัปชั่นในวงการก่อสร้างไทย

“ทั่วโลกมีคนที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังจำนวนมาก ประเทศไทยมีองค์กรภาคเอกชนและภาคประชาชน 30 – 40 หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ผมเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในเครือข่ายที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเท่านั้น” ผศ.ดร.ต่อภัสร์กล่าว

ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคณาจารย์หลายท่านบุกเบิกการศึกษาวิจัยเรื่องคอร์รัปชัน เช่น ศ.กิตติคุณ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ รศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ฯลฯ ผศ.ดร.ต่อภัสร์ได้สานต่องานวิจัยเรื่องคอร์รัปชันจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีผลงานทั้งในเชิงวิชาการและการทดลองทำจริง รวมทั้งอยู่เบื้องหลังการทำงาน ที่ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ส่งผลให้เครือข่ายการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันและเครื่องมือต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น


หลักการทำงานของนักวิชาการไทยผู้ได้รางวัลต้านคอร์รัปชันระดับนานาชาติ

การทำงานที่ผ่านมาของ ผศ.ดร.ต่อภัสร์ ยึดหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม “คน” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น เครื่องมือและนโยบายเดียวที่เป็นการทำงานแบบ Top-Down ทำให้การแก้ไขคอร์รัปชั่นยากมาก การทำงานต้านคอร์รัปชันไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วย คนๆ เดียวได้ แต่ต้องร่วมมือกันทำงานทั้งระบบ

ผศ.ดร.ต่อภัสร์ได้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยคอร์รัปชั่น “Siam Lab” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยร่วมมือกับนักวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ เช่น นักภาษาศาสตร์ นักการตลาด นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ขับเคลื่อนงานวิจัยต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ “Hand Social Enterprise” ซึ่งมีความคล่องตัวในการทำงานวิจัยกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ทำให้การคอร์รัปชั่นในประเทศไทยลดลงและดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นดีขึ้น

การมีส่วนร่วมของคนไทยในการต่อต้านคอร์รัปชัน

ผศ.ดร.ต่อภัสร์เปิดเผยว่าปัจจุบันภาคประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คนไทย 98% เห็นว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ที่น่ากังวลคือคนที่มีส่วนร่วมในการต้านโกงยังไม่สูงเท่าที่ควร ดังนั้นจึงต้องสร้างเครื่องมือเพื่อติดอาวุธให้ประชาชนให้ต่อสู้กับคอร์รัปชัน การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมีความสำคัญมาก ซึ่งจะต้องอาศัยองค์ความรู้ในการเข้าใจบริบทของสังคม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดมีบทบาทในการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ผ่านมามีโครงการวิจัยเรื่องการตลาดต้านโกง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก