xs
xsm
sm
md
lg

“ปัญหาขยะติดเกาะ” โคคาโคล่า-IUCN ชูพลังชุมชน “เกาะยาวใหญ่” จัดการได้จริงและยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภายใต้โครงการ การจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย: ปฏิบัติการภาคประชาชนสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย
"ขยะติดเกาะ" ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง มูลนิธิโคคา-โคล่า และ IUCN จึงสานต่อโครงการจัดการขยะติดเกาะต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อปลูกฝังการคัดแยกขยะสร้างคุณค่า เสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ยั่งยืน

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของเกาะที่ล้อมรอบด้วยน้ำ จึงมีอุปสรรคด้านการขนส่ง ส่งผลให้ขยะบนเกาะจำเป็นจะต้องได้รับการจัดการที่แตกต่างออกไป แต่ภายใต้ความท้าทายนี้ ก็ยังมีเรื่องราวดีๆ ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่มีความหวังในการจัดการขยะติดเกาะอย่างยั่งยืน

สมาชิกในชุมชนและหน่วยงานในชุมชนร่วมด้วยช่วนกันคัดแยกขยะ เพื่อส่งคืนเข้าสู่ระบบรีไซเคิล
“เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา” หนึ่งในเกาะที่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการร่วมแรงร่วมใจกันของสมาชิกในชุมชน

ในอดีต ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 เกาะยาวใหญ่เคยเป็นเกาะที่มีปริมาณขยะเฉลี่ยสูงถึง 3,000 กิโลกรัมต่อวัน เนื่องจากการกำจัดขยะบนเกาะด้วยการเผาในที่โล่งแจ้งและฝังกลบในพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่สาธารณะก่อให้เกิดมลพิษทางกลิ่น และสารพิษตกค้างจากการเผาขยะ แต่หลังจากที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคล่า ภายใต้โครงการ การจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย: ปฏิบัติการภาคประชาชนสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ดำเนินโครงการในพื้นที่ร่วมกับความต้องการและพลังของชุมชน 

ปัจจุบันผลกระทบจากปัญหาขยะติดเกาะที่เกาะยาวใหญ่ลดลง อันเป็นผลมาจากส่งเสริมการจัดการขยะเชิงบูรณาการที่เน้นการจัดการตั้งแต่ต้นทางของชุมชน ด้วยการสร้างความเข้าใจ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมระดับบุคคลในเรื่องการคัดแยกขยะ อีกทั้งมีการออกเทศบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการขยะ ซึ่งเป็นนโยบายการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เน้นการจัดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเช่นเดียวกัน จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการในพื้นที่ตำบลเกาะยาวใหญ่ ได้ขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ตำบลพรุใน และตำบลเกาะยาวน้อยเพื่อขยายความร่วมมือให้เกิดการจัดการขยะแบบบูรณาการร่วมกันทั้งอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา

ปริมาณวัสดุรีไซเคิลที่รวบรวมได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
นางซาเดีย แมดส์เบิร์ก ประธานกรรมการ มูลนิธิโคคา-โคล่า กล่าวว่า “มูลนิธิโคคา-โคล่า องค์กรสาธารณกุศลภายใต้ เดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืนในชุมชนในการดูแลและร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลก ปัญหา ‘ขยะติดเกาะ’ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่หลุดลอดออกสู่ธรรมชาติและมหาสมุทร”


นายนันทิวัต ธรรมหทัย เลขานุการมูลนิธิโคคา-โคล่า ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิโคคา-โคล่า จึงร่วมมือกับ IUCN เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงบนเกาะยาวใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม โดยจากการร่วมมือกันของทุกคนในชุมชน ปัจจุบันพื้นที่เกาะยาวใหญ่ได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบของการจัดการขยะในชุมชนบนเกาะได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานในปีที่ 3 นี้จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกยิ่งขึ้นไปให้แก่ชุมชนและสังคมรอบข้าง ก่อให้เกิดเป็นรูปแบบการจัดการขยะบนเกาะเพื่อชุมชนโดยชุมชน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเกาะอื่น ๆ เพื่อลดปริมาณขยะติดเกาะได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ”

หลังจากที่โครงการฯ สามารถช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะ สร้างความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ปลูกฝังให้ทุกคนในชุมชนเล็งเห็นความสำคัญของการนำวัสดุรีไซเคิล กลับเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างเหมาะสมแล้ว ปัจจุบันโครงการ การจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย: ปฏิบัติการภาคประชาชนสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ได้มุ่งดำเนินงานปีที่ 3 อย่างเต็มกำลัง ตั้งเป้าไปที่การปรับปรุงนโยบาย การรวบรวมวัสดุรีไซเคิล และการปรับปรุงระบบการจัดการของเสียในระดับครัวเรือนและตำบลในพื้นที่ตำบลเกาะยาวใหญ่ ตำบลพรุใน และตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ผ่านการทำงานเชิงลึก เน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับครัวเรือน ซึ่งเป็นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง และเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน

การจัดการขยะที่ตำบลเกาะยาวใหญ่มีการบูรณาการให้ชุมชนเห็นประโยชน์จากการจัดการขยะโดยมุ่งเน้นการทำงานเรื่องความสะอาดในชุมชน ส่งผลให้การจัดการปัญหาเรื่องอื่นๆ ของชุมชนก็ได้รับการดูแลไปด้วย ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน การทำงานมิติสุขภาพเรื่องการป้องกันโรค การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมนำเอาโมเดลธุรกิจการรับซื้อวัสดุรีไซเคิลเข้ามาประยุกต์ใช้ กระตุ้นให้ชุมชนเริ่มต้นคัดแยกขยะเพื่อนำมาสร้างรายได้เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีการดำเนินกิจกรรมกับชุมชนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ฝ่ายปกครอง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อปลูกฝังความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการขยะแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่เริ่มดำเนินงานในปี 2561 สมาชิกในชุมชนสามารถเก็บวัสดุรีไซเคิลคืนสู่ฝั่ง ด้วยการคัดแยกขยะได้จำนวนมากถึงเกือบ 600 ตัน ซึ่งเงินที่ได้จากการขายวัสดุรีไซเคิลเหล่านั้นก็กลับเข้าสู่ชุมชน อาทิ นำไปมอบให้กับมัสยิดเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการสาธารณะ การจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มอบให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงตั้งเป็นกองทุนเพื่อดูแลผู้ป่วยภายในตำบลอีกด้วย


นางสาวสุปราณี กำปงซัน หัวหน้าสำนักงาน แผนงานประเทศไทย ตัวแทนจาก IUCN กล่าวว่า “ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิโคคา-โคล่า รวมถึงสมาชิกในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง IUCN ได้ดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพ ความรู้ความเข้าใจของชุมชนด้านการจัดการขยะ การพัฒนากรอบนโยบายการจัดการขยะในระดับตำบล ร่วมพัฒนาเทศบัญญัติ และประกาศเทศบาลด้านนโยบายการจัดการขยะในชุมชนได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยการดำเนินงานดังกล่าวเกิดจากปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้ความรู้กับชุมชนให้พวกเขาตระหนักว่าปัญหาขยะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน กระตุ้นให้เปลี่ยนพฤติกรรมระดับบุคคลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากปัญหาที่มีอยู่จริงในพื้นที่ และปรับแผนงานตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน ให้พวกเขามองเห็นเป้าหมายเดียวกัน เกิดเป็นแผนการจัดการขยะทั้งในระดับชุมชนและระดับตำบลอย่างเป็นรูปธรรม ที่สามารถดำเนินงานได้ด้วยตัวชุมชนเองในที่สุด นับเป็นผลลัพธ์ของโครงการฯ ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและต่อยอดเพื่อความสำเร็จของชุมชนอย่างแท้จริง”

หลังจากนี้ มูลนิธิโคคา-โคล่า และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จะยังคงเดินหน้าโครงการ การจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย: ปฏิบัติการภาคประชาชนสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย ร่วมกับชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักรู้ด้านการจัดการขยะเชิงบูรณาการ สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ลดปริมาณขยะพลาสติก และขยะอื่น ๆ ให้หลุดลอดลงสู่ทะเลให้น้อยลง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดของโครงการฯ ที่ทุกคนในชุมชนร่วมมือกันบริหารจัดการ ขยะติดเกาะ ได้ด้วยตัวชุมชนเองอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ และเป็นโมเดลความสำเร็จที่จะกลายเป็นต้นแบบ การจัดการ ขยะติดเกาะ ให้พื้นที่เกาะอื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น