xs
xsm
sm
md
lg

PwC ชี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องเร่งเดินหน้าสู่ Net Zero

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



PwC ชี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องเร่งกำจัดการใช้พลังงานที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 °C และเดินหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

PwC เผยรายงานล่าสุดถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะต้องมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ เพราะโอกาสที่เป้าหมายของการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรมกำลังจะหมดลง

รายงาน Code Red - Asia Pacific’s Time To Go Green ของ PwC เอเชียแปซิฟิก ติดตามอัตราการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภูมิภาคนี้ โดยระบุว่า เอเชียแปซิฟิกจำเป็นจะต้องเพิ่มความพยายามอย่างมากในการลดก๊าซมลพิษ นอกจากนี้ ยังระบุถึงบทบาทของธุรกิจในการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยร่วมมือกับรัฐบาลในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และคว้าโอกาสทองในการเติบโตทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในปี 2563 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 52% ของการปล่อยก๊าซมลพิษทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งการที่แต่ละประเทศมีระดับของการพัฒนาและมีสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ย่อมส่งให้ความต้องการพลังงานแตกต่างกันไปด้วย ฉะนั้น ตราบใดที่เชื้อเพลิงฟอสซิล ยังเป็นส่วนสำคัญของการกำหนดสัดส่วนพลังงาน (Energy Mix) ในภูมิภาคนี้ ก็อาจทำให้การดำเนินการเพื่อให้บรรลุการกำจัดคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจนเหลือศูนย์เกิดความล่าช้า

นาย เรย์มันด์ ชาว ประธาน PwC ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า “โลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยิ่งใหญ่และรวดเร็วกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจจะต้องมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ เพราะโอกาสที่เป้าหมายของการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรมกำลังจะหมดลง โดยเอเชียแปซิฟิกมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้เพราะภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานด้านสังคมและการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค”

๐ ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องร่วมมือกัน

การแข่งขันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จะต้องเริ่มจากความมุ่งมั่นของผู้บริหารที่ถูกถ่ายทอดลงมาสู่ระดับพนักงาน ผนวกกับการมีเป้าหมายระดับชาติที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงาน อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคม อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลสามารถทำได้โดยลำพัง

ด้านนาย ศรี แนร์ รองประธาน PwC ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “วันนี้ทุกองค์กรมีโอกาสทองในการเติบโตธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่เคลื่อนไหวก่อนและเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วจะมีความเป็นต่อในตลาด เพราะทัศนคติของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยี และการเกิดขึ้นของตลาดใหม่ ๆ ด้วยความที่ธุรกิจและตลาดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป จึงอาจไม่มีโซลูชันที่เหมาะกับทุกความต้องการ ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องประเมินกลยุทธ์ของตนใหม่ เพราะเส้นทางสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ควรเริ่มต้นด้วยความคิดที่สดใหม่ในการกำหนดเป้าหมาย ผลการดำเนินงาน และผู้คน”

๐ พลิกโฉมธุรกิจสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ด้วยแรงกดดันจากประชาคมโลกที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก จึงทำให้โฟกัสของการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะต้องเปลี่ยนไปสู่การมีแนวทางในการเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนอย่างจริงจัง ในขณะที่ต้องจูงใจให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียปฏิบัติตามในกว้าง ทั้งนี้ ปณิธานของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ต้องการให้ทุกธุรกิจองค์กรคิดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งจากวิสัยทัศน์ดังกล่าว ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนองค์กรแบบครบวงจร (End-to-end Transformation) ทั้งในส่วนของกลยุทธ์ รูปแบบการปฏิบัติการ และเทคโนโลยี ซึ่ง PwC เชื่อว่า การกระตุ้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติสำหรับธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกควรประกอบไปด้วย

ความมุ่งมั่นในการดำเนินการ: เมื่อพูดถึงผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อสภาพภูมิอากาศ ผู้นำองค์กรจะต้องแสดงความโปร่งใส และชัดเจนต่อความมุ่งมั่นขององค์กรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เปลี่ยนสู่องค์กรสีเขียว: โดยลงมือปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง และเพื่อให้ธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก้าวสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเชิงรุก และนำเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์มาประยุกต์ใช้

ใช้ประโยชน์จากแหล่งเงินทุนเกิดใหม่: การลงทุนถือเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้น การจัดหาเงินทุน (และการส่งมอบ) เพื่อเปลี่ยนไปสู่การดำเนินธุรกิจที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จะต้องอาศัยความร่วมมือด้านนวัตกรรมและการเป็นพันธมิตรที่ยั่งยืนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ผ่านการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนที่มีความเหมาะสมตามขนาดและความรวดเร็ว

สร้างความไว้วางใจผ่านการจัดทำรายงานความยั่งยืน: ข้อมูลและความโปร่งใสถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานกำกับ และรูปแบบการรายงานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นวาระเร่งด่วนของโลก หรือจะเรียกว่าเป็น “Code red for humanity” ก็คงไม่ผิดนัก โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการเดินหน้าไปสู่การมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อสานต่อพันธกิจของการประชุม COP26 ที่ทั่วโลกได้มีการทำความตกลงเรื่องเป้าหมายและมาตรการต่างๆ ในความพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ในระยะถัดไป ทุก ๆ องค์กรธุรกิจจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการจัดการในเรื่องนี้ โดยองค์กรที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ก่อน ก็ย่อมจะมีความได้เปรียบในภาวะที่กระแสของการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังมีความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้บริโภค ลูกค้า และสังคมส่วนรวม” นาย ชาญชัย กล่าว

ทั้งนี้ โอกาสของการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคนั้นมีอยู่มากมายมหาศาล ด้วยวิถีการเติบโตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นที่รับรู้และถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนไปสู่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ จะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคมมั่นใจได้ว่า ธุรกิจในภูมิภาคไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตด้วยผลกำไรเท่านั้น แต่ยังต้องการทิ้งมรดกตกทอดที่มีค่าและยั่งยืนกว่าให้กับผู้คนและโลกใบนี้ และนี่ถือเป็นเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องลงมือปฏิบัติให้สัมฤทธิผล


กำลังโหลดความคิดเห็น