การทำเหมืองแร่ เป็นกิจกรรมพื้นฐานสำคัญลำดับต้นๆ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศ และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน การทำเหมืองแร่ได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนดำเนินงาน เพื่อยกระดับการทำเหมือง ตามแนวทาง ‘เหมืองแร่สีเขียว’ (Green Mining) ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ
แนวทางเหมืองแร่สีเขียว?
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้ความสำคัญต่อการยกระดับพัฒนาเหมืองอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) โดยมุ่งส่งเสริมการทำเหมืองให้มีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ นำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่กับการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน และที่สำคัญเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ
พัฒนาเหมืองเป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้แก่ชุมชน
นอกจากกระบวนการทำเหมืองตามหลักวิชาการ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนแล้ว อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังใส่ใจให้ความสำคัญตลอดต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองสิ้นสุดลงด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเหมืองแร่สีเขียว โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ เช่น การปลูกต้นไม้ในพื้นที่หลังการทำเหมือง โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ปัจจุบันแนวทางการฟื้นฟูเหมืองได้ปรับให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยวางแผนและดำเนินการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ ตลอดกระบวนการดำเนินงานของเหมือง และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ได้จากการฟื้นฟูเหมือง และสอดคล้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ ตัวอย่างเช่น เหมืองบ้านแม่ทาน จ.ลำปาง ที่พัฒนาเป็นแหล่งน้ำ และบริหารจัดการน้ำส่งต่อไปให้ชุมชนใช้ประโยชน์กว่า 250 ครัวเรือน หรือเหมืองใน จ.นครสวรรค์ จ.ลพบุรี จ.นครศรีธรรมราช ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ จุดเรียนรู้ และพื้นที่สันทนาการสำหรับชุมชนใช้ประโยชน์
พัฒนาเหมืองช่วยภัยแล้ง และบรรเทาน้ำท่วม
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบ่อเหมืองให้เป็นแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือชุมชน ช่วงที่ผ่านมาได้นำน้ำกว่า 1.3 ล้านลูกบาศ์เมตรจากบ่อเหมือง ช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งแล้ว บ่อเหมืองบางบริเวณยังสามารถพัฒนาเป็นแก้มลิงรับน้ำ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัยในพื้นที่โดยรอบเหมืองได้อีกด้วย เช่นสถานการณ์อุทกภัยเมื่อเร็วนี้ในจังหวัดสระบุรี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่วมกับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ได้บริหารจัดการเหมืองดินซีเมนต์ที่สิ้นสุดการทำเหมืองแล้ว ให้เป็นพื้นที่แก้มลิงสามารถรองรับน้ำได้ถึง 6.6 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถบรรเทาอุทกภัยแก่ชุมชน และช่วยป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า 1,000 ไร่ ทั้งนี้ น้ำที่กักเก็บในแก้มลิงนี้สามารถนำมาช่วยเหลือชุมชนบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงภัยแล้งได้อีกด้วย
เหมืองปูนซีเมนต์ ตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ จึงเป็นต้นแบบของการทำเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักวิชาการ ควบคู่ไปกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินการของโลกในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG Goals)