เมื่อเร็วๆ นี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดโครงการ Climate Action Leaders Forum (รุ่นที่ 1) โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ร่วมด้วย นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO ) Ms.Gita Sabharwal, UNRC และ Mr.Renaud Meyer , UNDP ตลอดจนผู้นำองค์กร ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ สื่อมวลชน ตลอดจนองค์กรอิสระ จำนวน 49 คน เข้าร่วมงาน ณ ห้อง META สโมสรราชพฤกษ์ โครงการ North Park กรุงเทพฯ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องนั้น จะต้องเป็นนโยบายที่ซึมแทรกอยู่ในทุกมิติของการพัฒนาประเทศ เพราะทุกกิจกรรมที่เราทำล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐบาลไทยมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งการกำหนดนโยบาย ตลอดจนการออกกฎหมาย การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินสำหรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลักดันการลงทุน กระตุ้นการเติบโตของตลาด การสร้างงาน และการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้มอบหมายให้ TGO เป็นหน่วยงานที่ให้บริการ รับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต หรือก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจากโครงการด้านพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม การจัดการของเสีย การเกษตร และป่าไม้ ซึ่งสามารถนำไปสู่การชดเชยคาร์บอนเครดิต ตลอดจน ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ต่อไป เป็นการเปลี่ยนผ่านจาก Black Gold ไปสู่ Green Gold
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ ต้องให้ความรู้กับพี่น้องประชาชนซึ่งจะช่วยให้เกิดการรักษาป่าไม้ขึ้นได้ เนื่องจากจะเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับพวกเขา สอดคล้องกับ 3 ปัจจัยหลักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ 1) ปัจจัยทางการเงิน อาทิ ทำแล้วจะโดนปรับ ทำแล้วจะได้เงิน 2) การออกกฎหมายและมาตรการลงโทษ และ 3) ความตาย ที่ถ้าไม่ทำแล้วจะถึงแก่ชีวิต ซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ทำให้เสียชีวิตในทันทีแต่กว่าจะรู้ตัวก็อาจเกินเยียวยาแล้ว ทั้งนี้ หากประชาชนสามารถตระหนักในประเด็นนี้ได้ พื้นที่สีเขียวในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้น และบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้ตั้งเป้าการมีพื้นที่สีเขียว ให้ได้ 55% โดยในจำนวนนี้ ต้องเป็นป่า 40%
รมว.ทส. ยังได้ย้ำว่า มนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ไม่ใช่ให้ธรรมชาติปรับตัวเข้าหาเรา โดยคาดหวังให้ CAL Forum เกิดการขยายผลไปยังเครือข่าย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดี ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ โดยจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ส่วนวิชาการ องค์กรอิสระ ตลอดจนสื่อสารมวลชน และภาคประชาสังคมในการร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และก่อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net-Zero Emissions
ในโอกาสนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ได้ให้มุมมองต่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขอให้เดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 น้อมนำตัวอย่างและแนวทางตามแนวพระราชดำรัสมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อความอยู่รอดและความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งขอให้ยึดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นเสมือน New Normal ในระดับความคิด มีการประมาณตน อย่าทำอะไรเกินตัว เนื่องจากต้นทุนดินน้ำลมไฟของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เรามีอยู่ และใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ทั้งนี้ ต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ซึ่งเมื่อเข้าใจว่าภัยอันตรายอยู่ตรงไหน เข้าใจว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไรแล้ว เราต้องเข้าถึงการกระทำด้วย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ไม่ใช่พัฒนาเพื่อความร่ำรวยมั่งคั่ง โดยคาดหวังว่าการระดมความคิดจาก CAL Forum ในครั้งนี้ ทุกคนจะร่วมกันสืบสานและดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน และความอยู่รอดของคนในยุคเรา และโดยเฉพาะกับคนยุคหน้าต่อไปอย่างไม่รู้จบ ตลอดจนขอให้ทุกคนมีกำลังใจในการทำงาน มีความรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเอง ชีวิตคนรุ่นหน้า และ รับผิดชอบต่อแผ่นดิน
ทั้งนี้ โครงการ CAL Forum จัดขึ้น ในบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่หลากหลายจากประสบการณ์ของผู้นำวงการต่าง ๆ เสมือนการย่อ World Economic Forum ลงมาสู่เรื่อง Climate Action ต่อสู้กับ Climate Crisis เพื่อให้ได้ข้อเสนอและข้อตกลงร่วมกัน ในการนำพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ด้วยความเชื่อที่ว่า “ผู้นำ” คือ ผู้ที่มีความสำคัญสูงสุด ในการกำหนดทิศทาง และนโยบายขององค์กร ในประเด็นการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการองค์กร ลดความเสี่ยงจากภัยอันเนื่องมาจาก Climate Change หรือ Climate Action ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้ โดยจัดในรูปแบบ Series of Conferences สร้างเวทีการมีส่วนร่วมระดับผู้นำ จำนวน 5 ครั้ง ในช่วงบ่ายตั้งแต่ 15.00 น. ของวันศุกร์ ยกเว้นวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม และจะสิ้นสุด ในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 ซึ่งในครั้งที่ 5 จะเป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการหารือ