xs
xsm
sm
md
lg

ผลักดันสร้างนิคมฯ จะนะ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง “เสือปลา” สูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยข้อมูล “เสือปลา” (Fishing Cat) สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ไทยปรับสถานภาพให้อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในขณะที่สถานภาพในระดับโลกตาม IUCN Red List อยู่ในระดับเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงจากการผลักดันก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

แสดงว่า สถานภาพของประชากรเสือปลากำลังน่าเป็นห่วงมากขึ้น และมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ป่าตามธรรมชาติของประเทศไทย

เสือปลา มักอาศัยบริเวณป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยถิ่นอาศัยแหล่งสำคัญที่ใหญ่ที่สุดของเสือปลา คือ พื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่บางส่วนของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งหากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือปลาในบริเวณนี้อาจหายไปตลอดกาล

กล้องดักถ่ายภาพ (Camera trap) จับได้ขณะที่เสือปลาออกหากินในช่วงเวลากลางคืน นอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
จากการศึกษาการกระจายของนากในพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าชายเลน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สามารถถ่ายภาพสัตว์ทั้งหมดมากถึง 53 ชนิด หนึ่งในนั้นมีภาพถ่ายสัตว์ป่าขนาดเล็กที่สำคัญ ได้แก่ เสือปลา, แมวดาว, พังพอน, อีเห็นข้างลาย, นากเล็กเล็บสั้น, นากจมูกขน, นากใหญ่ขนเรียบ, และอีเห็นธรรมดา เฉพาะพื้นที่ศึกษาในตำบลนาทับ อำเภอจะนะ มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติทั้งหมด 5 จุด สามารถถ่ายภาพเสือปลาได้ 2 จุด

โครงการดังกล่าวเริ่มทำการสำรวจมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 จนถึง เมษายน 2564 ในจังหวัดสงขลาและพัทลุง ซึ่งประกอบไปด้วยอำเภอต่าง ๆ ได้แก่ จะนะ, สทิงพระ, สิงหนคร, ควนเนียง, ระโนด, เทพา และเมืองสงขลา ในจังหวัดพัทลุง ได้แก่ ปากพะยูน, ควนขนุน, และเมืองพัทลุง และครอบคลุมจังหวัดนครศรีธรรมราชบางส่วนในอำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร โดยสามารถติดต้ังกล้องดักถ่ายภาพได้ 63 จุด ใน 33 แปลงศึกษา

นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มสัตว์มีปีก 32 ชนิด กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน 3 ชนิด และสัตวครึ่งบกครึ่งน้ำอีกหนึ่งชนิด

หากมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จำนวน 16,753 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ จากพื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์จะถูกเปลี่ยนเป็นผังเมืองสีม่วงที่มนุษย์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางธรรมชาติได้อีกต่อไป แน่นอนว่าถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือปลาในพื้นที่อำเภอจะนะก็จะหายไปด้วย


“เสือปลา”เป็นสรรพนามที่ใช้เรียกสัตว์ชนิดหนึ่งที่อ้างอิงตามราชบัณฑิตไทย ลักษณะภายนอกเป็นเสือชนิด Felis viverrina ในวงศ์ Felidae พื้นลําตัวสีเทา มีลายสีดําเป็นจุดกระจายอยู่ทั่วตัว

ถือว่าเป็นสัตว์นักล่าพื้นที่ชุ่มน้ำ เพราะชอบอาศัยอยู่ในป่าละเมาะหรือพุ่มไม้เล็กใกล้น้ำ หนองน้ำที่มีพืชน้ำจำพวกกก หรือตามริมทะเล ป่าชายเลน และลุ่มแม่น้ำทั่วไป

เสือปลาจะกินอาหารจำพวก ปลา ปู หอย หนู นก และสัตว์ขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์ผู้ล่าชั้นบนสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ชุ่มน้ำ

ปัจจุบัน เสือปลาอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกล่าและการสูญเสียถิ่นอาศัย จากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชากรของสัตว์ที่เป็นเหยื่อลดลง แหล่งอาหารและแหล่งหลบภัยจึงไม่เพียงพอ

สภาพที่เกิดขึ้นยังมีผลให้เกิดความเครียดในสัตว์ ทำให้อัตราการขยายพันธุ์ต่ำ ภูมิต้านทานโรคลดลง และเกิดการติดต่อโรคได้ง่าย

เสือปลาถูกจัดให้อยู่ในสถานะที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์/เสี่ยงสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตามรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) และอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศทั้งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์

ข้อมูลอ้างอิง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร


กำลังโหลดความคิดเห็น