ด้วยจุดยืนที่จะส่งมอบ “Smarter Energy for Sustainability : อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ยกระดับการดำเนินการโดยได้จัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ หรือ ESG Committee อย่างเป็นทางการ เพื่อย้ำถึงความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าและความไว้วางใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียและสังคมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เข้าถึงได้ และมีความชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สอดรับกับเทรนด์ 3Ds ของโลก (Decarbonization Decentralization และ Digitalization)
พร้อมกับการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ 7 ข้อ โดยมุ่งให้ความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องพลังงานและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งประเด็นด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ และการให้ความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูเป็นบริษัทไทยที่ออกไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะไปทำธุรกิจในประเทศใดก็เท่ากับว่าถือธงชาติไทยไปด้วย นี่จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งของการปักธงชาติไทยในฐานะที่บ้านปูเป็นผู้นำด้านพลังงานที่ให้ความสำคัญด้าน ESG เป็นบริษัทแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียที่มี ESG Committee เพื่อดูแลการทำงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบ้านปู เป็นการมุ่งเน้นการสร้างธุรกิจให้มีกระแสเงินสดจากส่วนที่เป็นสีเขียวมากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2025 ซึ่งหัวใจสำคัญของการที่จะไปถึงเป้าหมาย Smarter Energy for Sustainability หรือ อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน ก็คือ ESG นั่นเอง อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าบ้านปูมีความมุ่งมั่นในเรื่องนี้อย่างแท้จริง เพราะมีการจัดตั้ง Sustainable Development Committee ตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีคำว่า ESG แต่บ้านปูมี Sustainability อยู่ใน DNA แล้ว”
สำหรับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG Committee) จะให้คำแนะนำในด้านกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง การพิจารณานโยบาย เป้าหมาย การดำเนินงานและผลลัพธ์ การตรวจสอบและติดตามการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนการดูแลเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่สำคัญออกสู่สาธารณะ รวมทั้งปฏิบัติหน้าอื่นๆ ร่วมกับคณะผู้บริหารบริษัทฯ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ESG ให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด
คณะกรรมการ ESG ดังกล่าวมี 3 ท่าน ประกอบด้วย นายพิริยะ เข็มพล ประธานคณะกรรมการฯ มีประสบการณ์ส่วนใหญ่ในเรื่องการต่างประเทศ เช่น อยู่ในสหรัฐอเมริกา 8 ปี เป็นกงสุลใหญ่และเป็นฑูตประจำสหประชาชาติ อยู่ในจีน 7 ปี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง นายพิชัย ดุษฎีกุลชัย กรรมการฯ มีประสบการณ์ในสถาบันการเงินระดับแนวหน้ามายาวนาน และนายธีรภัทร สงวนกชกร กรรมการฯ มีประสบการณ์ด้านโทรคมนาคมและวิศวกรรม จึงเป็นการนำมุมมองที่หลากหลายมาช่วยกันจับทิศทางและให้ความคิดเห็นตามความเชี่ยวชาญ รวมถึงกำกับดูแล พร้อมทั้งหาโอกาสใหม่ๆ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร
นายพิริยะ เข็มพล ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูเป็นองค์กรที่ตระหนักรู้และหยั่งรากลึกในการดำเนินงานด้าน ESG มาอย่างยาวนาน การจัดตั้งคณะกรรมการ ESG สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแล เพื่อช่วยให้ภารกิจสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ในปัจจุบันประเทศต่างๆ เริ่มมีแนวนโยบายใหม่ๆ ด้าน ESG มากขึ้น และยังมีประเด็นที่หลากหลาย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) การตอบสนองต่อภัยพิบัติ และการพัฒนาพนักงาน”
“ดังนั้น คณะกรรมการ ESG จะเป็นตัวแทนของบอร์ดบ้านปูที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นเรดาร์จับทิศทาง และร่วมมือกับฝ่ายบริหารในการขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการ ESG จะเป็นกรรมการอิสระที่มีความรู้ความสามารถในหลายด้าน จึงสามารถนำเสนอข้อคิดเห็นและมุมมองที่มีความเป็นกลางและเป็นประโยชน์แก่ผู้บริหาร ส่งผลให้เกิดการทำงานแบบส่งเสริมซึ่งกันและกัน สร้างสมดุลระหว่างผลประกอบการที่ดีและความรับผิดชอบต่อเป้าหมาย ESG อย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”
บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยบทบาทผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ (International Versatile Energy Provider) โดยให้ความสำคัญด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกในบริบทใหม่ โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานและมุ่งให้ความสำคัญในประเด็นที่สอดคล้องกับทิศทาง ESG พร้อมกับการประเมินความเสี่ยงทั้งระยะสั้นและระยะยาวของโลก โดยมีตัวอย่างการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมใน 3 มิติดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการพลังงานและน้ำ และการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและพลังงานเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น และการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบสนองแนวโน้มและความต้องการพลังงานแห่งโลกอนาคต โดยบ้านปูได้วางเป้าหมายว่าภายในปี 2568 EBITDA มากกว่าร้อยละ 50 จะมาจากธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ซึ่งเป็นโครงการะยะยาวในเหมืองที่อินโดนีเซีย และการจัดตั้ง Decarbonization Project Working Group เพื่อศึกษาแนวทางการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ของบริษัทอีกด้วย
ด้านสังคม (Social) มุ่งเน้นเรื่องการจัดการและพัฒนาศักยภาพของพนักงาน การจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การทำงานชุมชนสัมพันธ์ และการพัฒนาชุมชน โดยมีวัฒนธรรมองค์กร Banpu Heart ที่เชื่อมโยงและหลอมรวมพนักงานจากหลากหลายเชื้อชาติและต่างวัฒนธรรมใน 10 ประเทศที่บ้านปูดำเนินธุรกิจ ให้สามารถร่วมแรงร่วมใจกันทำงานสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนตามหลัก ESG และการดำเนินโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ทั้งในด้านการส่งเสริมการศึกษา การช่วยเหลือสังคมและชุมชนในภาวะวิกฤตและในยามเกิดภัยพิบัติ โดยนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย บ้านปูได้ร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลในการจัดตั้ง “กองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19”เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยปัจจุบันกองทุนฯ มีมูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท
ด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance) มุ่งเน้นประเด็นการกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืน การดูแลจริยธรรมทางธุรกิจ การจัดการคู่ค้าและผู้รับเหมาการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และการจัดการความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Data Privacy & Cybersecurity) โดยมีทีมงาน Incident Management Team หรือ IMT ในการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤต ทำให้การดูแลความปลอดภัยของพนักงาน และการดำเนินธุรกิจโดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน Digital Center of Excellence (DCOE) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแนวคิดแบบดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้อย่างชาญฉลาดทั่วทั้งองค์กร ควบคู่ไปกับการทำงานรูปแบบใหม่ที่รวดเร็วและคล่องตัว “Agile Working” มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานในทุกส่วน รวมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ให้กับลูกค้าทั้งภาคธุรกิจ (B2B) รายย่อย (B2C) และรัฐบาล (B2G) ได้ดียิ่งขึ้น
จากการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้านความยั่งยืนจากองค์กรชั้นนำทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ การรักษาสถานะสมาชิกกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 การรักษาตำแหน่ง “Gold Class” ในกลุ่มอุตสาหกรรม Coal & Consumable Fuels จากการประกาศผลรางวัล SAM Sustainability Award 2021 รวมถึงได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับ A (ตามเกณฑ์วัด AAA ถึง CCC) ในการประเมินความยั่งยืน ESG Ratings โดย MSCI ในปี 2562 และล่าสุด ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 100 บริษัทในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่และโลหะ จากการจัดอันดับโดย Vigeo Eiris (V.E), Moody’s ESG Solutions นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัล Asia’s Best SDG Reporting ระดับ Silver จาก Asia Sustainability Reporting Awards 2020 และรางวัล Global Corporate Sustainability Award (GCSA) สาขารายงานความยั่งยืนดีเด่นในระดับ Silver ประจำปี 2564 ในฐานะองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG อย่างโปร่งใสอีกด้วย